ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 186 ราย ในปท.141-ตรวจเชิงรุก 35-ตปท.10

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 23,557 คน (+186)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 141 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 35 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 10 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 17,410 คน (+468)
  • เสียชีวิตสะสม 79 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 186 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 141 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 35 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 10 ราย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 23,557 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 7,623 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 13,383 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,551 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 17,410 ราย เพิ่มขึ้น 468 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมคงที่ 79 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 176 ราย ส่วนใหญ่ยังอยู่ใน จ.สมุทรสาคร 163 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ รวม 10 ราย และเฉพาะในกรุงเทพฯ 3 ราย ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ของกรุงเทพฯ ทั้ง 3 รายนี้เป็นเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจากเคสนี้อีก 9 ราย

โดยล่าสุด ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ออกรายงานสอบสวนวงจรการแพร่เชื้อเพื่อกำหนดผู้ที่มีความเสี่ยงภายในระยะ 14 วันก่อนพบผู้ติดเชื้อในวันที่ 6 ก.พ. ส่วนผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง ได้ออกมาตรการให้ลาหยุดเพื่อกักตัวดูอาการ 14 วัน และมีมาตรการทำความสะอาดพื้นที่ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 เพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และให้การดูแลอย่างถูกต้อง

สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่หลักของกรุงเทพฯ ได้มีการตรวจคัดกรองในโรงงานรวม 6 เขต ประกอบด้วย เขตภาษีเจริญ, บางแค, หนองแขม, บางบอน, จอมทอง, บางขุนเทียน รวม 123 โรงงาน ตรวจคนงานแล้ว 13,480 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด 54 ราย คิดเป็นผู้ติดเชื้อ 0.40% จากการค้นหาเชิงรุก

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการตรวจหาเชิงรุกดังกล่าว พบว่าผู้ที่ติดเชื้อมีการอยู่อาศัยรวมกันภายในชุมชน ในบ้าน หรือในหอพัก ดังนั้นมาตรการเฝ้าระวังส่วนบุคคลจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด แต่อย่างไรก็ดี การเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ถือว่าผู้นั้นจะกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสมอไป

“การใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่น อยู่ในหอพักเดียวกัน ใช้ลิฟท์เดียวกัน ผ่านเข้าออกล็อบบี้ นั่งโซฟาเดียวกัน ไม่ได้ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสูง แต่ท่านต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด ทั้งสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง เป็นต้น” พญ.อภิสมัยระบุ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการเจ้าของหอพัก คอนโดมิเนียม จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการในท้องถิ่นหรือในพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับลูกบ้านในการให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพราะสถานที่เหล่านี้มีโอกาสที่จะเป็นทั้งแหล่งรับเชื้อและแพร่เชื้อได้

ส่วนการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร นั้น จะพบว่าในระยะกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการคัดกรองเชิงรุกในระดับ 1 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งทำให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจำนวนต่อวันที่สูง แต่สัปดาห์นี้ จะเริ่มเข้าไปคัดกรองในโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 10% ซึ่งมีอยู่ราว 50 โรงงาน โดยจะตรวจให้ได้ 100-150 เคส/โรงงาน/วัน ซึ่งถ้ารวมทั้ง 50 โรงงานแล้ว จะคิดเป็นการตรวจเชิงรุกราว 5,000 ราย/วัน

“การตรวจที่สมุทรสาคร จะยังเป็นการคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนเกิดความมั่นใจ มาตรการล็อกดาวน์ของสมุทรสาครเริ่มขึ้นก่อนพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ ดังนั้นการคัดกรอง การรักษามาตรการที่เข้มข้น เพื่อนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการให้สมุทรสาครกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ขณะนี้หลายประเทศเริ่มพูดถึงการใช้มาตรการที่กำหนดให้ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ (Vaccine Passport) ว่า ในส่วนของศบค.ได้ติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด แต่การจะตัดสินใจออกมาตรการใดๆ จะต้องคิดอย่างรอบคอบ และคงไม่สามารถออกมาตรการตามต่างประเทศได้ ต้องศึกษาอย่างรอบด้านก่อน และฟังความเห็นจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย ซึ่งล่าสุด WHO ออกมาแนะนำว่ายังไม่ควรกำหนดให้ใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าประเทศได้ เพระยังขาดข้อมูลหลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19

“ผู้ประกอบการสามารถเป็นผู้หนึ่งที่เสนอมาตรการเพื่อให้ ศบค.พิจารณา แต่ ศบค.ต้องทบทวนมาตรการที่เป็นความปลอดภัย
สูงสุดของพี่น้องประชาชนโดยรวม ให้มีความสมดุลกับเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ไปต่อได้ เมื่อมีการนำเสนอมาตรการ จะต้องมีการตรวจสอบมาตรการ ทุกๆ มาตรการที่ออกมา จะยังต้องติดตามตัวเลข ว่าเมื่อกำหนดมาตรการแล้ว มีการติดเชื้อมากขึ้นหรือน้อยลง ไปติดเชื้อในสถานการณ์ไหน กระจุกตัวในที่ใด พื้นที่ใด เพื่อนำไปสู่การปรับมาตรการขึ้นหรือลงให้มีความเหมาะสม” พญ.อภิสมัยระบุ

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งมักจะมีการเดินทางไปรวมญาติ และรับประทานอาหารร่วมกันว่า ศบค.มีความเป็นห่วง เพราะการรวมญาติต้องมีการเดินทางไปมาหาสู่จากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง โดยย้ำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยไม่ว่าจะเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะ หรือรถส่วนตัว ส่วนการไปจับจ่ายสินค้าในตลาดสดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ต้องรักษามาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดเช่นกัน

“ลูกหลานบางคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง การพูดคุยเสียงดังโดยไม่สวม mask ก็ถือเป็นความเสี่ยง ซึ่งมาตรการที่ลดความเสี่ยงอาจทำได้ เช่น การอวยพรญาติผู้ใหญ่ผ่านทางมือถือ โอนเงินอั่งเปาทางออนไลน์ ช้อปปิ้ง สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น เราไม่ได้อยากให้หวาดกลัวกัน แต่อยากให้ใช้ชีวิตอยู่กับวิถีใหม่ที่ต้องอยู่กับโควิด ต้องระมัดระวัง” พญ.อภิสมัยระบุ

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 106,677,372 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,326,819 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 27,611,403 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,838,843 ราย อันดับสาม บราซิล 9,524,640 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,967,281 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,945,680 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 114

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 64)

Tags: , , ,
Back to Top