ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 157 ราย ในปท.38-ตรวจเชิงรุก 106-ตปท.13, ตาย 1

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 23,903 คน (+157)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 38 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 106 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 13 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 18,914 คน (+548)
  • เสียชีวิตสะสม 80 คน (+1)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 157 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 38 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 106 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 23,903 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 7,784 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 13,545 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,574 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 18,914 ราย เพิ่มขึ้น 548 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดสะสมเพิ่มเป็น 80 ราย

สำหรัยผู้เสียชีวิต เป็นหญิงวัย 65 ปี เป็นโรคประจำตัว คือ มะเร็งกล่องเสียงและไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัวใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งพบว่าติดเชื้อ 5 ราย จากทั้งหมด 8 ราย โดยในวันที่ 29 ธ.ค.ไปฟอกไตแล้วมีอาหารหนาวสั่นและสงสัยว่าจะติดเชื้อบริเวณที่เจาะคอ รวมทั้งมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว จึงส่งตรวจหาเชื้อโควิด และยืนยันพบติดเชื้อในวันที่ 1 ม.ค.จึงย้ายไปรักษาที่ รพ.ในกทม. พบว่ามีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ จึงใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาพบว่าการติดเชื้อรุนแรงขึ้นและเกล็ดเลือดต่ำเลือดออกบริเวณที่ต่อท่อช่วยหายใจ รวมถึงอวัยวะภายใน และหัวใจหยุดเต้นไปขณะหนึ่ง พบเชื้อราในกระแสเลือด เมื่อปรับยาหลายอย่างอาหารไม่ดีขึ้น จากนั้นวันที่ 8 ก.พ.หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตตก จนกระทั่งเสียชีวิตในคืนนั้น

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงการตรวจหาเชิงรุกในชุมชนและโรงงานในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ได้รับรายงานความคืบหน้าการตรวจหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุกในโรงงานใหญ่ 9 แห่งที่มีการตรวจไปแล้วกว่า 1 แสนคน พบว่ามีผู้ติดเชื้อประมาณ 7 พันคน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 17% ซึ่งในโรงงานที่พบการอัตราการติดเชื้อในระดับสูงนั้นจะได้มีการนำมาตรการ Bubble and Seal เข้าไปใช้

อย่างไรก็ดี คนที่อยู่ภายในสถานที่ที่ใช้มาตรการ Bubble and Seal อาจจะมีโอกาสได้รับเชื้ออย่างอ่อนๆ แต่เมื่อทอดเวลาไปสักระยะจะทำให้คนเหล่านั้นเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติมากขึ้นก็มีโอกาสจะได้เห็นแนวทางการผ่อนคลายมาตรการหรือการเปิดเมืองในระยะต่อไป ซึ่งขณะนี้หลายประเทศก็ใช้วิธีแบบนี้

“การตรวจแบบนี้ อาจจะมีคนที่ไม่เคยติดเชื้อ กลายมาติดเชื้อได้เมื่อช่วงเวลาผ่านไป เราจะทอดเวลาไปอีกระยะ เพื่อให้มีการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ดังนั้น ตัวเลขที่รายงานอาจต่ำกว่าความเป็นจริงบ้าง แต่การเข้าไปตรวจตอนนี้ก็ไม่ได้มีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์อะไรไปจากเดิม…ตอนนี้มีการเข้าไปตรวจภูมิคุ้มกัน ซึ่งทางจังหวัดกับมหิดลทำงานกันใกล้ชิด ขอเวลาให้สรุปชุดข้อมูลนี้ก่อน…ถ้าคนที่ติดเชื้อถูกนำออกมา คนข้างในอาจได้รับเชื้ออ่อนๆ ถ้ามีภูมิคุ้มกันจำนวนมากขึ้น จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หลายประเทศใช้วิธีแบบนี้ แต่ต้องรอข้อมูลที่แท้จริงว่าเป็นไปตามทฤษฎีนี้หรือไม่ ถ้าเป็นตามนั้น จะเห็นการผ่อนคลายมาตรการ เห็นแผนการเปิดเมืองต่อไป”

นพ.ทวีศิลป์ ระบุ

ส่วนการติดเชื้อในกลุ่มของหอพักภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ รปภ. พนักงานบริษัท และอื่นๆ โดยพบความเชื่อมโยงไปในหลายส่วน ทั้งภายในสถานที่พัก และตลาดในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีแรงงานเมียนมาอาศัยอยู่ด้วย โดยจะมีการสอบสวนโรคถึงความเชื่อมโยงต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากทีมสอบสวนโรค ในช่วงการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.63 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะมีประวัติความเชื่อมโยงกับตลาดเป็นสำคัญ โดยผู้ติดเชื้อจะเป็นผู้ขายมากถึง 90.19% ขณะที่เป็นผู้ซื้อ 9.81% โดยการติดเชื้อจากตลาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดสดมากถึง 96.86% มีเพียง 3.14% ที่เป็นตลาดนัด และผู้ที่ติดเชื้อจะเป็นชาวเมียนมาถึง 88.25% ส่วนใหญ่เป็นแผงขายของสด และมีลูกจ้างเป็นชาวเมียนมา ซึ่งจังหวัดที่มีผู้ป่วยติดเชื้อมีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ สมุทรสาคร รองลงมา คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ตามลำดับ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อของผู้ที่มีประวัติเชื่อมโยงกับตลาด มักจะเกิดจากเป็นตลาดที่มีแผงขายแออัด ไม่มีระยะห่าง พ่อค้าแม่ค้าไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา มีการตะโกนพูดคุยเสียงดัง ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าตลาด ขาดความสม่ำเสมอในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม เช่น ลูกบิดประตูห้องน้ำ และแม่ค้าพ่อค้ามีการเดินทางไปซื้อของมาขายจากหลายแห่ง เป็นต้น

ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงมีข้อแนะนำว่าทุกตลาดจะต้องดำเนินตามมาตรการด้านความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องและตลอดเวลา ทั้งในส่วนของผู้ค้า ลูกจ้าง และลูกค้า สำหรับแผงขายหากไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ก็ควรมีฉากกั้นโดยเฉพาะแผงขายของสด และควรงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top