กยท.คาดดีมานด์ยางพุ่งหลังตรุษจีนแนะชาวสวนจับจังหวะขายให้ดี

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อยลง โดยปัจจัยหลักมาจากฤดูปิดกรีดยาง ตอนนี้พื้นที่สวนยางในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ตอนบนเข้าสู่ช่วงผลัดใบและหยุดกรีดแล้ว

ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยาง ของ กยท. พบว่าเดือน ม.ค.64 มีปริมาณผลผลิตน้ำยางออกสู่ตลาด 519,614 ตัน คาดการณ์ว่าในเดือนก.พ.64 ปริมาณน้ำยางจะเหลือ 353,224 ตัน ลดลง 32% และจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงเม.ย.64 ซึ่งลดลงจากเดือนม.ค.64 ถึง 80% ตัวเลขนี้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลผลิตน้ำยางในตลาดกำลังน้อยลง ประกอบกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นหลังเทศกาลตรุษจีน จึงสอดคล้องกับแนวโน้มราคายางที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในทิศทางบวก ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแน่นอน

กยท. พยายามกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาด โดยการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำยางสด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค.64 โดยสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรชะลอการขาย เก็บรวบรวมน้ำยางสดไว้ รอจังหวะที่ตลาดมีความต้องการ เช่น ในฤดูปิดกรีดที่ราคายางสูงขึ้น หรืออยู่ในระดับราคาที่สถาบันเกษตรกรเห็นว่าเหมาะสมแล้วนำออกมาขาย

พร้อมกันนั้น กยท. ได้จัดหาอุปกรณ์แทงค์เก็บน้ำยางสดพร้อมสารเคมี เพื่อยืดระยะเวลาเก็บรักษาน้ำยางสดให้คงคุณภาพไว้ได้ 1-2 เดือน และสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อน้ำยางสดมาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายสามารถดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 200,000 ตัน เบื้องต้นดำเนินการแล้วในจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมและรับแทงค์รวบรวมน้ำยางสดแล้วกว่า 90 ถัง และในสัปดาห์นี้ ได้เร่งดำเนินการเพิ่มเติมในจังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ กยท. เปิดเผยว่า กยท.ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 62 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกรชาวสวนยางในโครงการ 18,095 ราย พื้นที่สวนยางจำนวนกว่า 270,000 ไร่ มุ่งพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็น Smart Farmer ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ โดยการบูรณาการร่วมกัน ทั้งในส่วนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หน่วยราชการ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายให้มีโรงงานแปรรูปยางพาราครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตของ กยท. ทั้ง 7 เขต วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 700 ล้านบาทต่อปี ล่าสุด คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำยางข้นในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ยางพาราให้กับสหกรณ์เครือข่ายยางพาราจังหวัดตราด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานน้ำยางข้นของสถาบันเกษตรกรโรงงานเดียวที่รับซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น โดย กยท. สนับสนุนเงินอุดหนุนจากมาตรา 49 (3) วงเงินกว่า 31 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยหลังจากปรับปรุงโรงงานจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นจากเดิม 3 เท่าต่อวัน จึงสามารถรองรับน้ำยางสดจากเกษตรกรในภูมิภาคได้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะรับซื้อน้ำยางสดในราคานำตลาด เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเก็บไว้ชะลอขายได้ ถือเป็นอีกวิธีบริหารจัดการน้ำยางสดอีกวิธีหนึ่งในช่วงที่สถานการณ์ยางมีความผันผวน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top