ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 150 ราย ในปท.38-ตรวจเชิงรุก 104-ตปท.8

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 25,111 คน (+150)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 38 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 104 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 8 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 23,946 คน (+249)
  • เสียชีวิตสะสม 82 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 150 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 38 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 104 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 8 ราย          

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 25,111 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 8,190 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 14,256 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,665 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 23,946 ราย เพิ่มขึ้น 249 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 82 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ซึ่งในวันนี้มีรายงานพบว่าเป็นผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 8 รายนั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาจากก่อนหน้าที่เคยมีการเสนอให้ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน จากปัจจุบันที่ 14 วัน เนื่องจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ยังจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการกักตัว 14 วันเพื่อสังเกตอาการ

โดยระหว่างการกักตัวนี้ จะมีการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นระยะ ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทย และตรวจครั้งที่ 2 ในช่วงวันที่ 3-5 และตรวจครั้งที่ 3 ในช่วงวันที่ 13-14 ก่อนที่จะพ้นระยะการกักตัว อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นจากการตรวจหาเชื้อในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศนี้ พบว่าแม้การตรวจในครั้งแรก และครั้งที่ 2 จะไม่พบเชื้อโควิด แต่มีหลายรายที่ตรวจพบเชื้อในวันที่ 10, 12 หรือแม้แต่วันที่ 14 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกักตัว ดังนั้น การจะลดระยะเวลาการกักตัวลงเหลือ 10 วัน จาก 14 วัน อาจจะยังมีความเสี่ยงสูง

“เหล่านี้ นำไปสู่คำถามที่ว่าทำไมยังถึงต้องกักตัว 14 วัน ก็เพราะเรายังพบผู้ติดเชื้อ แม้จะตรวจไม่เจอเชื้อมาแล้วจากประเทศต้นทางก็ตาม แต่กลับมาเจอเชื้อในวันที่ 10 บ้าง 12 บ้าง หรือวันที่ 14 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกักตัว กรมควบคุมโรค จึงมีความเป็นห่วงต่อการลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน เพราะยังมีความเสี่ยงสูง”

พญ.อภิสมัยระบุ

สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศที่ จ.ปทุมธานี หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อจากตลาดสด 3 แห่ง คือ ตลาดพรพัฒน์ ตลาดสุชาติ และตลาดรังสิตนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนใกล้เคียงบริเวณโดยรอบตลาดทั้ง 3 แห่ง ซึ่งอาจทำให้ได้เห็นตัวเลขอัตราผู้ติดเชื้อของ จ.ปทุมธานี ในระยะนี้เพิ่มสูงขึ้น แต่เชื่อว่าในระยะถัดไปจะเริ่มลดลง

โดยล่าสุด ได้มีการลงพื้นที่ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนไปแล้วประมาณ 4,000 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อแล้ว 437 ราย โดยได้มีการแพร่ไปยังจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก จ.ปทุมธานี อีก 9 จังหวัด คือ นครนายก, กรุงเทพฯ, เพชรบุรี, สมุทรปราการ, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, นครราชสีมา และนนทบุรี

“จังหวัดปทุมธานี ได้เตรียมความพร้อมในการวางมาตรการ ทั้ง Local Quarantine และ Home Quarantine กล่าวคือ ถ้าผู้ติดเชื้อมีอาการที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. ตอนนี้ปทุมธานีพร้อม แต่ถ้าไม่มีอาการรุนแรง แต่ยังจำเป็นต้องให้กักตัวอยู่ที่บ้าน หรือในสถานที่กักตัวที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ตอนนี้ทางจังหวัดก็เตรียมความพร้อมไว้แล้วเช่นกัน”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

พร้อมระบุว่า จากที่ตลาดสดเป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในจำนวนมากนั้น ทำให้ได้บทเรียนสำคัญ คือ ตลาดจะยังเป็นหัวใจที่สำคัญของชุมชน ประชาชนยังมีความจำเป็นต้องออกไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้น ศบค.จึงขอเน้นย้ำว่าตลาดและชุมชนต้องร่วมกันพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย มีมาตรการคัดกรองเข้มข้น หากพบผู้ติดเชื้อต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่อย่างทันท่วงที ขณะที่ผู้เข้าไปซื้อสินค้า ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าเองจะต้องการ์ดไม่ตก มีการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด วางแผนการซื้อไว้ล่วงหน้าเพื่อใช้เวลาอยู่ภายในตลาดสดให้น้อยที่สุด เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 110,429,980 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,440,928 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 28,453,526 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,949,546 ราย อันดับสาม บราซิล 9,979,276 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,112,151 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 4,071,185 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 114

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top