ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 130 ราย ในปท.61-ตรวจเชิงรุก55-ตปท.14 ตาย 1

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 25,241 คน (+130)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 61 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 55 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 14 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 24,070 คน (+124)
  • เสียชีวิตสะสม 83 คน (+1)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 130 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 61 ราย

โดยมาจากสมุทรสาคร 35 ราย ปทุมธานี 10 ราย กรุงเทพมหานคร 7 ราย พระนครศรีอยุธยา 4 ราย นครปฐม 3 ราย และนนทบุรี 2 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศจากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 55 ราย โดยมาจากสมุทรสาคร 36 ราย ปทุมธานี 12 ราย และนครปฐม 7 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 14 ราย โดยมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดนมาร์ก ประเทศละ 3 ราย มาจากเยอรมนี และเมียนมา ประเทศละ 2 ราย มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี คูเวต และสาธารณรัฐแคมารูน ประเทศละ 1 ราย

“กรณีผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศยังตรวจพบเชื้อในช่วงวันหลังๆ ก่อนจะออกจากสถานกักกัน นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องมีการกักตัว 14 วัน”

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าว

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 25,241 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 8,251 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 14,311 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,679 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 24,070 ราย เพิ่มขึ้น 124 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 83 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนัก 19 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นแพทย์เกษียณอายุ อายุ 66 ปี เพศชาย มีโรคประจำตัว มะเร็งต่อมลูกหมาก ไขมันในเลือดสูง ถุงลมโป่งพอง โดยติดเชื้อจากการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 2,9 และ 11 ของกลุ่มโต๊ะแชร์ จ.มหาสารคาม และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ก.พ.64 กรณีดังกล่าวไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์รายแรกที่ติดเชื้อ แต่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อแล้ว 36 ราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดูแลประชาชน โดยปัจจุบันที่แพทย์ปฏิบัติงาน 35,388 คน ดูแลประชากร 66 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1:1,800 แต่บางพื้นที่อาจมีภาระเพิ่มเป็น 1:4,000-8,000 ดังนั้นขอให้ประชาชนที่จะเข้ารับการรักษาแจ้งประวัติการเดินทางอย่างชัดเจน เพื่อที่จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้นอีก

“วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 12 จังหวัด ซึ่ง ศบค.ชุดเล็กจะติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ปทุมธานีอย่างใกล้ชิด”

พญ.อภิสมัย กล่าว

สำหรับกรณีตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติที่พบการแพร่ระบาดจากแม่ค้าช่วงวันที่ 6-7 ก.พ.64 ได้มีการทำงานเชิงรุกเฝ้าระวังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ศูนย์การค้าฟิวเจอร์รังสิต ตลาดรังสิต หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการติดตามว่าผู้ติดเชื้อเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง ทำให้รู้ว่ามีพื้นที่เชื่อมโยงอีก 9 จังหวัด ส่วนที่จังหวัดชัยภูมิและนครปฐมนั้นก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแม้ไม่รายงานผู้ติดเชื้อแต่เป็นพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไป

ขณะเดียวกันมีการตรวจคัดกรองผู้เกี่ยวข้องในตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติไปแล้ว 5,743 ราย พบผู้ติดเชื้อ 355 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ นอกจากนี้ ยังตรวจคัดกรองพื้นที่ใกล้เคียงอีก 1,781 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย มาจากตลาดสี่มุมเมือง 4 ราย และตลาดไท 1 ราย โดยจะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ครบ 10,000 ราย

“สิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยให้ตลาดเป็นแหล่งแพร่เชื้อคืออากาศปิด ทั้งโครงสร้างของอาคารที่หลังคาเตี้ย และมีค่าแอร์โฟลเป็นศูนย์ มีการระบายอาการไม่เพียงพอ และการเดินทางไปมาหลายตลาด คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่ไปจับจ่ายใช้สอยในตลาด ไม่คนในชุมชนที่ไปตลาด เพราะส่วนใหญ่ตื่นตัว แต่เป็นคนงานในตลาดที่อยู่ในตลาดเป็นเวลานาน”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ทั้งนี้ ศบค.ชุดเล็กจะเสนอแนวทางการพัฒนาตลาดให้มีสุขอนามัยที่เหมาะสมให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหม่ในสัปดาห์หน้า ทั้งในเรื่องของการถ่ายเทอากาศ, การลดความแออัด และ การรักษาความสะอาด รวมถึงการตรวจสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดจนถึงวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 110,824,588 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 397,806 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 11,491 ราย หรือคิดเป็น 2.2% ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 2,451,458 ราย โดยประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสูงสุด 28,523,524 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,962,189 ราย อันดับสาม บราซิล 10,030,626 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 4,125,598 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 4,125,598 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 114

“หลายประเทศมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการกระจายการฉีดวัคซีน และหลายประเทศมีมาตรการที่เข้มข้น..การที่จะบอกว่าตัวเลขที่ลดลงเป็นผลจากการฉีดวัคซีนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาบอกว่าต้องรอให้ฉีดครบคนละสองโดส รวมทั้งมีการฉีดให้กับประชากรที่มากพอด้วย”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ขณะที่ปัจจุบันทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 186 ล้านโดส โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาฉีดไปแล้ว 57.4 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วน 17.29% ของประชากรทั้งหมด โดยมีประชากรที่ฉีดครบสองโดสไปแล้ว 16.1 ล้านคน ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเซียมีการฉีดไปแล้ว 2 ล้านโดส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.พ. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top