BJC พุ่ง 6.82% กำไร Q4/63 โตดีจาก GPM, เล็งธุรกิจพลิกฟื้นหลังท่องเที่ยวกลับมา

หุ้น BJC ราคาพุ่งขึ้น 6.82% มาอยู่ที่ 35.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 372.42 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.47 น. โดยเปิดตลาดที่ 33.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 35.50 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 33.50 บาท

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ”ซื้อ”หุ้น บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/63 ที่ 1.4 พันล้านบาท (-45% QoQ, +27% YoY) ดีกว่าที่คาดไว้ ได้รับแรงหนุนจาก GPM และรายได้อื่นๆ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และโมเดิร์นเทรดเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตในเชิง QoQ ขณะที่สาเหตุของการลดลงเชิง YoY มาจาก BigC และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

พร้อมให้ราคาเป้าหมายที่ 39.5 บาท อิงด้วย EPS ปี 65 ที่ 23.6 เท่า หรือ 1.0SD ต่ำกว่า PER เฉลี่ยในอดีต โดยชอบ BJC จากมูลค่าหุ้นที่ถูก

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะ”ซื้อ”หุ้น BJC คาดการพลิกฟื้นของทุกธุรกิจมีโอกาสหลังธุรกิจท่องเที่ยวกลับมา ผลการใช้วัคซีนโควิด-19 ที่ได้ผลจะเป็นบวก โดยเฉพาะผลประกอบการในธุรกิจค้าปลีกกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ให้ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 47 บาท (ด้วยวิธี DCF)

BJC รายงานไตรมาส 4/63 กำไรปกติ 1.4 พันล้านบาท (+35% QoQ,-44 %YoY) ปรับดีขึ้นรายไตรมาส (QoQ) ได้แรงหนุนจากระดับมาร์จิ้นส่วนหนึ่ง ได้แรงหนุนจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะสินค้ากระป๋อง จากกลุ่มลูกค้าใหม่เช่นในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้และกาแฟซึ่งมีมาร์จิ้นดี

รายได้รวม 3.5 หมื่นล้านบาท (+0%QoQ,-13%YoY) รายได้ลดลงในทุกธุรกิจเมื่อเทียบกับรายปี (ไตรมาส 4/62) ยกเว้นธุรกิจอุปโภคบริโภคที่เห็นการเติบโต 0.5% อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับรายไตรมาส (ไตรมาส 3/63) ธุรกิจที่เห็นการเติบโตคือธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขึ้น 9%QoQ เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่ม และธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค เพิ่มขึ้น 11%QoQ ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ลดลง 2%QoQ ซึ่งมีผลกระทบจากโควิด-19 รอบที่ 2

ระดับมาร์จิ้น ปรับเพิ่มเป็น 19.7% ปรับตัวดีขึ้น 80 Bps เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/63 ที่18.9% ดีขึ้นส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์สินค้ากระป๋องที่มีมาร์จิ้นดีจากลูกค้าใหม่ แต่ยังคงลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 ที่20%จากธุรกิจค้าปลีกที่สินค้า Home line และ Softline ที่มีมาร์จิ้นดี มียอดขายที่ทำได้น้อยลง รวมถึงธุรกิจอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว

ด้านกำไรปี 63 อยู่ที่ 4 พันล้านบาท ลดลง 45% YoY เกิดจากรายได้ 1.4 แสนล้านบาท ลดลง 8%YoY รายได้อื่นๆรวมรายได้จากค่าเช่า 1.2 หมื่นล้านบาท -20%YoY สาเหตุจากการลดค่าเช่าที่มีผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีระดับมาร์จิ้นที่ 19% ลดลง 50 bps ผลกระทบหลักจากธุรกิจค้าปลีก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top