AAV ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารปีนี้ 9.4 ล้านคน คาดกลับมาบินเส้นทางระหว่างปท. Q4/64

บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บจ.ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งประกอบธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย โดยถือหุ้น 55% ระบุว่า ในปี 2564 บจ.ไทยแอร์เอเชีย ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางและท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

โดยมุ่งเน้นเป็นผู้นำและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยตั้งเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารที่ 9.4 ล้านคน ด้วยอัตราขนส่งผู้โดยสารที่ 75% ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ของปี 2564 เช่นเดียวกับทิศทางอุตสาหกรรม

รวมถึงขยายโอกาสธุรกิจด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติมในส่วนของการขนส่งสินค้าทางอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการขนส่งวัคซีนทางอากาศในประเทศและภูมิภาค อีกทั้ง บจ.ไทยแอร์เอเชีย ได้มีการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดต้นทุนและเลื่อนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

ในปี 2564 บจ. ไทยแอร์เอเชีย ไม่มีแผนรับมอบเครื่องบิน อีกทั้งมีแผนคืนเครื่องบินที่หมดอายุตามสัญญาเช่าและหมุนเวียนเครื่องบินภายในกลุ่มแอร์เอเชีย ส่งผลให้ ณ สิ้นปี มีฝูงบินจำนวน 54 ลำ การปรับลดขนาดฝูงบินเป็นไปตามคาดการณ์การท่องเที่ยวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักระยะเพื่อให้สภาวะการท่องเที่ยวโดยรวมกลับมาปกติ

นอกจากนี้ บจ. ไทยแอร์เอเชีย มุ่งเน้นในการเพิ่มประสบการณ์การบินใหม่ๆ และมาตรการลดการสัมผัส รวมถึงเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผ่านทางระบบจดจำใบหน้าในอนาคต

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563 บจ. ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้จำนวน 16,236.3 ล้านบาท ลดลง 61% จากรายได้ในปี 2562 ที่ 41,529.3 ล้านบาท โดยหลักมาจากรายได้จากการขายและการให้บริการจำนวน 13,633.9 ล้านบาท ลดลง 66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย บจ. ไทยแอร์เอเชีย หยุดให้บริการบินชั่วคราวในเส้นทางบินระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2563 อย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารในปีนี้หดตัว 57% มาอยู่ที่ 9.49 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศหดตัว 84% จากปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี บจ. ไทยแอร์เอเชีย ได้มีการจัดการบริหารเที่ยวบินและปริมาณที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 75% ซึ่งเป็นไปตามที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยในของปี 2563 ลดลง 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,199 บาทต่อคน เนื่องจากมีรายได้หลักจากเส้นทางบินในประเทศ ทั้งนี้ บจ.ไทยแอร์เอเชีย มีรายได้บริการเสริมในปี 2563 เท่ากับ 2,284.7 ล้านบาท ลดลง 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยหลักมาจากการหดตัวของจำนวนผู้โดยสารเส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่งผลต่อบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่อง เช่นเดียวกันกับรายได้จากค่าระวางขนส่งที่ลดลงตามจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ อีกทั้งรายได้จากการขายสินค้าบนเครื่องบินที่ได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ประกาศห้ามจำหน่ายและให้บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 แม้ว่าจะอนุญาตให้กลับมาเปิดบริการได้ในเดือนกันยายน ส่งผลให้รายได้บริการเสริมต่อคนอยู่ที่เท่ากับ 241 บาท ลดลง 29% จากปีก่อน

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 บจ. ไทยแอร์เอเชีย ฟื้นตัวจากความต้องการท่องเที่ยวภายในประเทศที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาล กอปรกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐ โดยกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศมากกว่าปริมาณที่นั่งก่อนการแพร่ระบาด ในไตรมาสนี้ บจ. ไทยแอร์เอเชีย ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 2.81 ล้านคน มีอัตราขนส่งผู้โดยสารในเดือนพฤศจิกายนเกือบถึง 80% อย่างไรก็ดีอัตราขนส่งผู้โดยสารของไตรมาสที่ 4 ปี 2563 อยู่ที่ 74% โดยได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น ในปี 2563 มีรายได้รวมจำนวน 16,237.3 ล้านบาท รวมถึงขาดทุนสุทธิสำหรับปีจำนวน 4,764.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และขาดทุนในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมจำนวน 4,882.8 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีรายได้รวมจำนวน 4,158.6 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิสาหรับงวดจำนวน 1,114.4 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.พ. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top