TSI วางเป้าเบี้ยประกันภัยรับปี 64 โตกว่า 30% ดันพอร์ตงาน Non-Motor เพิ่ม

นายธนพล บุญวรุตม์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย (TSI) เปิดเผยแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 64 ว่า บริษัทฯ ยังคงมุ่งสร้างการเติบโตต่อไป หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมานับแต่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ได้เร่งขับเคลื่อนจากภายในองค์กรสู่ภายนอก ทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างการบริหารงาน การจัดทัพบุคลากร การสร้างความแข็งแกร่งและมั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะการรักษาอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR RATIO) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายงาน ทั้งงานประเภทรถยนต์และประกันภัยทั่วไป โดยสิ้นปี 63 CAR RATIO อยู่ที่ประมาณ 500% สูงกว่าเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140%

นายธนพล บุญวรุตม์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย (TSI)

ทั้งนี้ ในปี 64 บริษัทกำหนดเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 30% จากปี 63 ด้วยการวางกลยุทธ์เพื่อก้าวสู่การแข่งขันทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการบริการ พร้อมดันพอร์ตงานด้าน Non-Motor มากขึ้น ขณะเดียวกันยังเน้นขยายธุรกิจการรับประกันวินาศภัยทุกรูปแบบด้วยการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการเข้าถึงลูกค้าองค์กรและลูกค้ารายย่อย เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาและขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย

ล่าสุด TSI ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ (MOU) กับ Haier ผู้ผลิตเครื่องไฟฟ้าชั้นนำจากประเทศจีน ในการเป็นพันธมิตรด้านบริหารความเสี่ยงการประกันวินาศภัยให้กับลูกค้า Haier ในโครงการ Smart Sharing ด้วยการรับประกันการสูญหายของเครื่องปรับอากาศ

“ที่ผ่านมา TSI มุ่งมั่นในการแก้ไขและเตรียมความพร้อมสร้างรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว เราได้ปรับพันธกิจและวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ ให้เป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่สามารถตอบสนองเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้ทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน โดยสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เน้นการทำงานเป็นทีมและการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับงานให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า การบริการลูกค้า และ การผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ TSI Insurance กลับมายืนเป็นบริษัทประกันภัยระดับกลางได้ในปีนี้”

ด้านนางสาวอรลดา เผ่าวิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเสริมว่า ในปี 64 บริษัทจะเร่งเดินหน้าเพิ่มพอร์ตงานด้าน Non-Motor ในสัดส่วน Motor และ Non-Motor อยู่ที่ 70:30 โดยจะเน้นรับงานผ่านโบรกเกอร์และตัวแทนประกันภัยในสัดส่วนกรุงเทพและต่างจังหวัด 60:40 เนื่องจากปีที่ผ่านมาการขยายตลาดในต่างจังหวัดมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะภาคใต้ มีเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีจากลูกค้า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนเพิ่มพื้นที่การตลาดครอบคลุมยังภาคเหนือและภาคตะวันออก

นอกจากนี้ บริษัทปรับปรุงพัฒนางานฝ่ายรับประกันให้ไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย และงานด้านการตลาด รวมทั้งการบริการสินไหมทดแทน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งระบบงานและบุคลากรให้ มีประสิทธิภาพ คล่องตัว รวดเร็ว พร้อมทั้งยกเครื่องเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงสนับสนุนฝ่ายต่างๆ และเพิ่มบทบาทการทำงานของ Call Center ให้งานสินไหมดำเนินไปอย่างรวดเร็ว สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า เพื่อให้ TSI Insurance ก้าวเข้าสู่ 80 ปี ของการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ส่วนผลประกอบการในปี 63 มีความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่อุตสาหกรรมประกันวินาศภัยยังสามารถเติบโตได้ดี มีเบี้ยประกันภัยรวมที่ 254,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ TSI มีพัฒนาการไปในเชิงบวก จากการเปลี่ยนแปลงองค์กรและปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ทั้งหมด ทำให้เกิดความยืดหยุ่นเข้ากับสถานการณ์ สามารถตอบโจทย์ตัวแทนและลูกค้าได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ มีเบี้ยประกันภัยรับ 665 ล้านบาท หรือ เติบโต 31.1% มีกำไรจากการรับประกันภัยรวม 54 ล้านบาท

บริษัทสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสัดส่วนของรายได้ที่ทยอยรับรู้เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนก่อนภาษีลดลงจาก 175.7 ล้านบาท เป็น 74.6 ล้านบาท หรือลดลง 57.5%

“การตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ TSI Insurance เพราะตลาดแข่งขันกันสูงและผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่ แต่ในอีกมิติหนึ่งจะเป็นแรงส่งผลักดันไปสู่การเติบโตของบริษัทฯ ให้มั่นคง แข็งแกร่ง เพราะการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยอย่างต่อเนื่องจะทำให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยที่รับรู้เป็นรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอถึงจุดที่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ (Economy of Scale) ขณะเดียวกัน เรายังเน้นกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงและการคัดสรรคุณภาพของงาน ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่ทำให้เราเทิร์นอะราวด์กลับมาเร็วกว่าที่คาด ดังนั้นในปีนี้เราต้องวางการเติบโตอย่างมีจังหวะและต้องระมัดระวังกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

นางสาวอรลดา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top