วิษณุ มองเดินหน้าโหวตแก้ รธน.วาระ 3 อาจมีปัญหาตามมา แนะช่องแก้รายมาตราเร็วกว่า

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีข้อถกเถียงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐสภามีอำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติก่อนว่า เป็นเรื่องที่รัฐสภาจะพิจารณา แต่หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แม้ว่าจะสามารถทำได้ แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติก่อน และยังมีท่าทีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยทั้ง ส.ว.และ ส.ส.บางส่วน ก็อาจมีโอกาสเกิดปัญหาตามมา ได้แก่

  • กรณีที่ 1 ไม่มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม
  • กรณีที่ 2 สมาชิกเข้าประชุมแต่งดออกเสียง
  • กรณีที่ 3 ลงมติไม่เห็นชอบ จะทำให้จบเรื่องไปเริ่มต้นกันใหม่ ส่วนจะเริ่มทำกันทั้งฉบับหรือพิจารณาเป็นรายมาตราก็อยู่ที่รัฐสภา

“ถ้าสภาลงมติวาระ 3 จบไป หรือคะแนนเสียงไม่ถึงก็ดูเหมือนจะจบลงด้วยดี อาจไม่ถูกใจบางคน แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะหากลงมติวาระ 3 แล้วเกิดผ่านขึ้นมา จะทำให้เดินต่อไปยาก และผมรับรองจะมีคนเลี้ยวไปหา ศาลรธน.อีก”

นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวมองว่าดำเนินการวาระ 3 ให้ได้ข้อยุติจะมีผลดีมากกว่าปล่อยให้ค้างคาไว้

ส่วนการทำประชามติสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ควรทำในช่วงใดนั้น นายวิษณุ ระบุว่า ทำช่วงไหนก็ได้ แต่จะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ มีผลใช้บังคับเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในวาระ 2 แบ้ว ทุกอย่างอยู่ที่รัฐสภาจัดทำรายละเอียด แต่เมื่อได้รับการโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้กฎหมายประชามติแล้วจะมีผลใช้ได้ทันที ไม่ต้องรอระยะเวลา 90 วัน

หากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ถูกโหวตคว่ำจริง แนวทางหลังจากนั้นจะเป็นการทำประชามติ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามากกว่านั้น นายวิษณุ ระบุว่า กระแสในสภาฯ ก็อยากให้แก้รายมาตราอยู่แล้ว เพราะใช้เวลาไม่มาก ประมาณ 1 เดือนครึ่งก็น่าจะแล้วเสร็จ แต่ต้องมีความเห็นให้ตรงกันก่อนว่าจะแก้ไขในมาตราใดบ้าง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเพื่อให้ตกผลึกร่วมกัน

ส่วนกรณีที่บางฝ่ายกังวลเรื่องของกรอบเวลาที่จะมีขั้นตอนการทำประชามติ และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ อาจเลยวาระของสภาชุดนี้นั้น นายวิษณุ กล่าวา กฎหมายกำหนดว่าให้ทำเสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่าสามารถทำให้เสร็จก่อนได้ เช่น หากกำหนดว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 280 วัน ก็สามารถทำให้เสร็จก่อนภายใน 30 วันได้ ดังนั้นกรอบเวลาหรือไทม์ไลน์สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะอยู่ที่ว่าจะแก้อะไร เห็นพ้องกันหรือไม่ หากทุกอย่างตรงกันก็ดำเนินการได้เร็ว หรือหากมีการตั้ง ส.ส.ร.แต่สภาหมดวาระก่อน ส.ส.ร.ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top