GUNKUL วางแผนปลูกกัญชา-กัญชง 5,000 ไร่-ตั้งโรงสกัด,ตั้งงบ 3 ปีลงทุนทั้งกลุ่ม 2 หมื่นลบ.

นายพงษ์สกร ดำเนิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานธุรกิจพลังงาน บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กล่าวว่า นกลุ่มบริษัทสนใจและอยู่ระหว่างศึกษาเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ กัญชงหรือกัญชา เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างจุดแข็งให้กลุ่มบริษัท และสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันทางธุรกิจ จากข้อได้เปรียบด้วยพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ที่พร้อมสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีไว้สำหรับการเพาะปลูกรวมถึงนวัตกรรมในระบบการเกษตร โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ สำหรับใช้ในระบบควบคุมแสงและอุณหภูมิในโรงเรือนปิด ทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำ

รวมถึงวางแผนลงทุนทำโรงสกัด CBD บริสุทธิ์ 99% ที่มีกำลังผลิต 1 ตัน ต่อวันอีกด้วย โดยวางแผนจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศต่อไป การทำงานร่วมกันในการดำเนินงานจากการจัดหาพลังงานหมุนเวียนของบริษัทสำหรับการทำสวนในโรงเรือนพร้อมที่จะเติมเชื้อเพลิง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องพร้อมให้บริการ

“ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทฯ มีการวางพื้นฐานธุรกิจแต่ละภาคส่วนได้เป็นอย่างดี และมีความชัดเจน ขณะเดียวกันก็มองถึงธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างฐานรายได้ และกำไรให้เติบโตอย่างมีศักยภาพในระยะยาว จึงทำให้เกิดการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยผนึกกำลังกันในแต่ละภาคธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งการเติบโตอย่างยั่นยื่นของกลุ่มบริษัทฯ”

นายพงสกร กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทได้ค้นคว้าข้อมูลกับทางพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงวิสาหกิจชุมชน โดยทางบริษัทมีความได้เปรียบทางด้านที่ดินที่ตั้งของโครงการพลังงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถนำมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์ได้ในหลากหลายด้าน อีกทั้งทางบริษัทยังมีการใช้ระบบ Smart Farmimg เพื่อควบคุมคุณภาพของต้นไม้ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัทเข้ามาช่วยควบคุม มีการเก็บตัวอย่างดินและน้ำ วางแผนสัดส่วนของโรงปลูกและการวางแผนระบบดูแลกัญชาและกัญชงอย่างครบถ้วนอีกด้วย

ขณะที่มีการเจรจากับพันธมิตรที่จะเข้ามารับผลผลิตไปต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเครื่องสำอาง บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ทางบริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถหาตลาดที่จะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากกัญชา/กัญชงได้อย่างแน่นอน

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานบริษัท GUNKUL เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในระยะ 3 ปี (64-66) บริษัทมีการตั้งงบลงทุน 20,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท โดยจะใช้ลงทุนในธุรกิจพลังงานราว 17,000 ล้านบาท และงบอีก 3,000 ล้านบาทสำหรับธุรกิจ Built to 2Suit

ขณะที่ในปี 64 บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า รับเหมาก่อสร้าง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งโซลาร์และพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20 % ซึ่งเป็นการเติบโตในธุรกิจทุกด้าน ทั้งในส่วนของธุรกิจเทรดดิ้ง และธุรกิจ EPC โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ นายพงษ์สกร กล่าวว่า ในด้านธุรกิจพลังงานบริษัทตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 66 ด้วยการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากแรงสนับสนุนของ 6 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย โครงการ Solar Farm ซึ่งบริษัทสนใจเข้าร่วมโครงการเมกะโซลาร์ฟาร์มของทางกองทัพบก ที่มีเป้าหมาย 3 หมื่นเมกะวัตต์ ส่วนโครงการในเวียดนาม แม้จะมีปัญหาในการก่อสร้าง แต่คาดว่าในปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น และโครงการในไต้หวันคงต้องรอให้เปิดประเทศก่อน

โครงการ Wind farm ในประเทสไทยมีโครงการพลังงนลมที่อยู่ในแผนประมาณ 90 เมกะวัตต์ นอกจากนี้จะมีการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศเวียดนาม โดยกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งทางเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพเรื่องลมที่ดี สามารถนำกำลังการผลิตมาสนับสนุนธุรกิจของทางบริษัทได้เป็นอย่างมาก

โครงการ Private PPA มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางบริษัทคาดหวังให้เพิ่มขึ้นปีละ 50 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตคาดว่าจะมีภาคเอกชนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของโครงการ Built to suit ได้ทำโครงการร่วมกับเทสโก้โลตัส ปัจจุบันดำเนินการเสร็จสิ้นไปทั้งหมด 2 โครงการ คาดว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีลูกค้ารายอื่นเข้ามาให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โครงการ EV Charging ยังอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันกับพันธมิตร รวมไปถึงการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนอีกด้วย

ทางด้านธุรกิจงานก่อสร้าง และ Turnkey ในปัจจุบันมีปริมาณงานในมือ (backlog) อยู่ที่ 8,500 ล้าน โดยในปีนี้มีเป้าหมายการสะสมให้เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ปีนี้ 2,800 ล้านบาท เพราะโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายเมือง การนำสายไฟลงใต้ดิน บริษัทจึงมั่นใจว่าธุรกิจในภาคส่วนนี้จะมีการเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง ปีนี้ทางบริษัทตั้งเป้ายอดขายแตะ 1,500 ล้านบาท คาดจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี โดยทางบริษัทได้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 300 รายการ อุปกรณ์หลักในตอนนี้จะเป็น สมาร์ทมิเตอร์ โดยทางการไฟฟ้าจะเปลี่ยนมิเตอร์ตัวนี้เข้าไปในระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการระบบมิเตอร์มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีกเช่น อุปกรณ์สวิตช์
อุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์จับยึดต่าง ๆ อีกด้วย

ธุรกิจกลยุทธ์การลงทุนและนวัตกรรม มีการจัดทำ Volt marketplace เป็นแพลตฟอร์มที่จะรวบรวมธุรกิจของการซื้อขายไฟฟ้าและอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า ซึ่งทำร่วมกับพันธมิตรที่จะทำหน้าที่ในการเขียนแพลตฟอร์ม ส่วนทางบริษัทจะนำผลิตภัณฑ์ส่งเข้าไปเพื่อให้เกิดการซื้อขายในแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 1 นี้ระบบต่าง ๆ น่าจะมีความพร้อมในการให้บริการ

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างช่วงดำเนินการทำแพลตฟอร์ม โกดังไฟฟ้าไฟฟ้าดอทคอม (GODUNGFAIFAA) โดยจะมีการซื้อขายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของทางบริษัทร่วมกับพันธมิตร เพื่อให้ลูกค้าสามารถที่จะซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นและสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงอีกด้วย รวมไปถึงโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid Solution) ที่ได้มีการจ่ายไฟเข้าในระบบ Headrun เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รวมไปถึงยังมีโครงการที่ยังอยู่ในช่วงศึกษาและพัฒนาคือ P2P Energy Trading จะเป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อขายไฟฟ้ากันในระบบภายใต้แนวคิดที่ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกใช้ไฟฟ้า โดยมีต้นแบบอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งอยู่ในช่วงทดลงซื้อขายและจ่ายไฟให้กับมหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top