เอกชน มองเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง แนะอัดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันภาคธุรกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) กล่าวในงานสัมมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนนี้ การอยู่รอดให้ได้ก่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด การจะให้วัคซีนที่สำคัญๆ แก่ประเทศไทยในช่วงนี้ มองว่าควรเป็นวัคซีน 3 เข็มหลัก ได้แก่

วัคซีนเข็มที่ 1 คือ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก ส่วนการจะแก้ไขไปในทิศทางใดนั้น ทุกฝ่ายต้องหันมามาคุยกันด้วยความประนีประนอม เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันของทุก generation แก้ไขในวาระที่สมควรต้องแก้

“เราอยากได้ความจริงใจจากทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายค้าน แต่ต้องเหมาะสมกับจารีตประเพณีของไทย และตามกลไกที่ถูกต้อง ไม่ fast track หรือดึงเวลา แต่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย…ไม่อยากเห็นประเด็นการเมืองไปฉุดเศรษฐกิจไม่ให้โตได้ตามที่เราควรจะเป็น”

นายเศรษฐา ระบุ

ส่วนวัคซีนเข็มที่ 2 คือ การกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนในประเทศได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยมองว่าการพึ่งพาวัคซีนโควิดโดยการจัดหาจากรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวอาจจะช้าไป ดังนั้นหากให้เอกชนเข้ามาช่วยในส่วนนี้ก็จะทำให้การกระจายวัคซีนในประเทศทำได้ทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น และช่วยในการฟื้นเศรษฐกิจด้วย

“ขอรณรงค์ให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ชนิดที่ได้รับการอนุมัติจาก อย.แล้ว โดยที่รัฐบาลนำเข้ามาฉีดได้ เอกชนก็ควรจะนำเข้ามาฉีดได้ เพื่อให้ effective อย่างกว้างขวาง”

นายเศรษฐา ระบุ

ส่วนวัคซีนเข็มที่ 3 คือ การช่วยภาคธุรกิจให้สามารถเดินต่อได้ โดย 2 ประเด็นสำคัญ คือ การช่วยลดรายจ่าย และการช่วยเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการช่วยสนับสนุนเงินเดือนหรือค่าจ้าง เพื่อช่วยในการพยุงการจ้างงานของธุรกิจเหล่านั้นไว้ให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การโรงแรม สายการบิน เพราะเมื่อเศรษฐกิจกลับมา ธุรกิจเหล่านี้ก็จะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้

ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) มองว่า วัคซีน 6 ด้าน ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

  1. การสร้างภูมิคุ้มกันและแต้มต่อให้ SMEs ซึ่งเป็นการสร้างแต้มต่อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs มีสัดส่วนถึง 99.8% ของธุรกิจในประเทศ คิดเป็นผู้ประกอบการถึง 3.1 ล้านราย และมีการจ้างงานถึง 38 ล้านคน
  2. การสร้างภูมิคุ้มกันให้โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเหมาะสมกับบริบทของไทย
  3. การสร้างภูมิคุ้มกันให้โครงสร้างรายได้ โดยการเพิ่มฐานและลดการกระจุกตัวของภาษีทั้งในส่วนภาษีของประชาชน และภาษีของบริษัทที่อยู่ในระบบ
  4. การสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจในภูมิภาค โดยต้องมีการกระจายอำนาจและสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ให้กับแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้ที่ดีกว่าในระดับท้องถิ่น
  5. การสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการพัฒนาโครงสร้างสำหรับอนาคต ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างและทรัพยากรดิจิทัล
  6. การสร้างความสะดวกให้กับการทำธุรกิจ โดยการยกเครื่องกฎหมาย ลดขั้นตอน และลดความยุ่งยาก

“เมื่อพูดถึงวัคซีน แปลว่าเราต้องการสร้างภูมิคุ้มกันอะไรบางสิ่งบางอย่าง แต่เรายังมีความเปราะในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งนั่นคือความเปราะบางทั้ง 6 ด้านที่ได้พูดถึง ดังนั้นถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยต้องอย่า waste good crisis หมดเวลาที่เราจะปล่อยให้เศรษฐกิจเลื่อนไปตามทางเลื่อนอัตโนมัติ โดยหวังให้แรงโน้มถ่วงของโลกค่อยๆ พาเราไป และอย่าตั้งความหวังว่าวัคซีนมา โควิดหายแล้วเราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิม เราใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ ไม่เช่นนั้น เราจะติดในหล่มแบบนี้ไปอีก”

นายปิติ กล่าว

ด้าน น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป (จำกัด) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยคือ “วัคซีนเศรษฐกิจ” ทั้งนี้ ต้องการผลักดันรัฐบาลให้กล้าดำเนินการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของประเทศไทยทั้งหมด 10 ข้อดังนี้

  • 1. ทำให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของการช้อปปิ้งระดับโลก เนื่องจากประเทศไทยมีการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งหากทำได้จะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ธุรกิจค้าปลีก โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจอาหาร รถยนต์ ธุรกิจสื่อ ซึ่งมีมูลค่าถึง 20% ของ GDP โดยควรดำเนินการสร้างย่านการค้าที่สำคัญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว, สินค้าและราคาต้องมีความหลากหลาย โดยต้องการการสนับสนุนจากทางภาครัฐในการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจาก 7% เป็น 5% เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายหลังสถานการณ์โควิด-19

“นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่ไทยใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งทะเล วัด แต่เรากลับไม่ได้รายได้ เพราะนักท่องเที่ยวนำกล้องมาถ่ายภาพ และนำเข้าอุปกรณ์ดำน้ำจากต่างประเทศมาดำน้ำที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรของเรา โดยไม่ได้รายได้ เนื่องจากภาษีแพง”

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าว
  • 2. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมอาหารของโลก ส่งเสริมผู้ประกอบการทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสรรค์ และยกระดับการจัดงานอาหารให้ยิ่งใหญ่ และทันสมัย
  • 3. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความบันเทิงในภูมิภาคเอเชีย ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เช่น ขยายเวลาการเปิดทำการของธุรกิจกลางคืนให้นานขึ้น, พัฒนาระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น
  • 4. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการประชุมสัมมนา และจัดแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคเอเชีย เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจ Mice Market โดยตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชีย และควรรีบดำเนินการก่อนที่ประเทศเวียดนามจะเติบโตไปมากกว่านี้
  • 5. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย
  • 6. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางจัดเทศกาลแห่งความสุขสนุกระดับโลก
  • 7. ผลักดันให้อ่าวไทย และคาบสมุทรอันดามัน เป็นริเวียร่าแห่งโลกตะวันออก และพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ภูเก็ตให้รองรับเส้นทางเดินเรือสำราญที่สำคัญของเอเชีย
  • 8. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ สุขภาพ ความงาม และสปา ในภูมิภาคเอเชีย
  • 9. ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย ในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ เชื่อมโยงธุรกิจต่อยอดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
    1. ทำประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะยังอยู่กับประเทไทยไปอีกพักใหญ่ เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่บางแค แต่ข่าวดี คือปัจจุบันผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตน้อยลง แต่ที่น่ากังวล คือการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่คน 1 คนสามารถแพร่เชื้อเพิ่มเฉลี่ย 4.5 คน

“ถ้าจะให้มีภูมิคุมกันหมู่ ต้องฉีดวัคซีนถึง 98% ของประชากร จากสายพันธุ์เดิมที่ 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้เฉลี่ย 3 คน ถ้าจะให้มีภูมิคุมกันหมู่ ต้องฉีดวัคซีน 84% ของประชากร สำหรับประเทศไทย คาดว่าปลายปี 65 ประชาชนทั่วประเทศถึงจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง”

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 วัคซีนคือทางออกในการควบคุมโควิด ในขณะเดียวกันประเทศไทยในปัจจุบันเองก็กำลังป่วยด้วยโรค 3 ชนิด คือ 1.โรคไข้หวัด เมื่อเกิดเหตุการณ์เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า และคาดว่าอีก 2 ปีจึงจะกลับมาสู่ระดับปกติ 2.โรคข้อเข้าเสื่อม ปัจจุบันสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลต่อเรื่องกำลังแรงงานที่ลดน้อยลง และเรื่องการไม่พัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และ 3.ขาดความมั่นใจ เกิดจากการที่รับรู้ข่าวสารของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนาม ที่ปัจจุบันมีการส่งออกที่สูงกว่าไทย รวมถึงสถานการณ์ในไทยที่โรงงานจากต่างประเทศเริ่มปิดตัวลง

สำหรับแนวทางแก้ไขโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น มองว่าไทยควรใช้วัคซีนเศรษฐกิจ-ธนู 3 ดอก เพื่อทางออกของประเทศที่มากขึ้น คือ

  1. นโยบายการเงิน ผ่านการออกมาตราการต่างๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
  2. นโยบายการคลัง
  3. การปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ควรปรับโครงสร้างทางการเงินเฉพาะหน้า, การทำโกดังพักหนี้ ( warehousing) ธุรกิจโรงแรม, เปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีน, การฉีดวัคซีนให้กลุ่มท่องเที่ยว เพื่อที่จะสามารถทยอยการเปิดรับนักท่องเที่ยวได้, ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ระยะเปลี่ยนผ่าน เช่น Time Sharing, ปรับโมเดลธุรกิจใหม่ระยะยาว เช่น Wellness & Medical Tourism, แก้ปัญหาความปลอดภัยและเรื่องมลพิษ และสร้างจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวให้ทุกภูมิภาค

ด้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิต ปัญหาคือการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งแนวทางที่ไทยใช้ในการแก้ปัญหา คือการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เนื่องจากมีต้นทุนแฝงที่สูงจากทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องโรคระบาด จึงควรเปลี่ยนต้นทุนแฝงเป็นต้นทุนที่มองเห็นได้ คือหันมาใช้หุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโมเดลอุตสาหกรรมด้วย

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปฎิรูปภาครัฐเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะความสามารถของรัฐไทย มีการถดถอยลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 40 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด 3 ด้านคือ

  1. ปฎิรูปกฎระเบียบด้วยกิโยตินกฎหมาย เพื่อช่วยเพิ่มอันดับความง่ายในการทำธุรกิจ ช่วยลดต้นทุนได้ปีละ 0.8% ของ GDP โดยการปรับวิธีทำและบริหารแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ชัดเจน และกำหนดเจ้าภาพที่ต้องรับผิดชอบแต่ละแผน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
  2. พัฒนาประสิทธิภาพด้วยบริการ Digital Government
  3. ให้ทรัพยากรแก่ภาคการผลิต ปรับโครงสร้างรองรับโลกหลังโควิด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top