In Focus: จับตาปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกงกับอนาคตประชาธิปไตยใต้เงาพญามังกร

แม้การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) หรือ “ฉวนกั๋วเหรินต้า” ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 จะผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ควันหลังจากการประชุมครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของฮ่องกง โดยบรรดากูรูการเมืองต่างออกมาวิเคราะห์ฉากต่อไปของเกมการเมืองระหว่างจีนและฮ่องกง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินหมากของจีนในครั้งนี้เป็นการชี้ชะตาอนาคตทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของฮ่องกงที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งเกาะ และลามไปถึงซีกโลกตะวันตกบางประเทศด้วย

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านไปติดความเคลื่อนไหวและประเด็นที่น่าจับตามองเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างฮ่องกงและจีน ที่ไม่ใช่แค่เพียงข้อพิพาทระหว่างสองชาติเท่านั้น แต่โยงใยไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนระหว่างกลุ่มขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีจุดยืนตรงข้ามกับจีนด้วย

ที่ประชุม NPC โหวตฮ่องกงต้องปกครองโดยผู้รักชาติ

หลังการประชุมที่ยาวนานเกือบสัปดาห์ได้เสร็จสิ้นลงไปเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม NPC ได้เทคะแนนโหวตด้วยเสียงข้างมาก 2,895 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง เห็นชอบให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้งของฮ่องกง พร้อมกับออกแถลงการณ์ว่า ระบบการเลือกตั้งของฮ่องกงควรตั้งอยู่บนรากฐานของนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และควรเป็นระบบที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ฮ่องกงจะได้รับการบริหารโดยประชาชนที่รักชาติและรักฮ่องกง ซึ่งถือเป็นความพยายามที่จะกีดกันไม่ให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์เข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงการเมืองของฮ่องกง

ทั้งนี้ เพื่อการันตีว่าฮ่องกงจะได้รับการปกครองโดยผู้รักชาติ การปฏิรูประบบการเลือกตั้งฮ่องกงจะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนของสมาชิกคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแน่งผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลจากสาขาอาชีพต่างๆ ภาคธุรกิจการค้า แรงงาน โดยเพิ่มจาก 1,200 คนเป็น 1,500 คน และเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกง (LegCo) จาก 70 เป็น 90 ที่นั่ง นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแน่งผู้บริหารสูงสุดจะมีสิทธิแต่งตั้งสมาชิก LegCo มากถึง 1 ใน 3 ซึ่งจะเป็นการตัดโอกาสที่ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยจะได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภา

ชาติตะวันตกร่วมประณามจีนบ่อนทำลายประชาธิปไตย

หลังจีนส่งสัญญาณยกเครื่องระบบเลือกตั้งในฮ่องกงได้เพียงวันเดียว สหรัฐได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวว่า เป็นการแสดงถึงความไม่เคารพต่อหลักประชาธิปไตย โดยนายเนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐกล่าวว่า “การแก้ไขระบบที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม NPC เป็นการมุ่งทำลายอำนาจอธิปไตย เสรีภาพ และประชาธิปไตยของฮ่องกงโดยตรง อีกทั้งยังลิดรอนการมีส่วนร่วมทางการเมือง ปิดกั้นการแสดงออกตามแนวทางประชาธิปไตย และโอกาสในการแสดงความเห็นทางการเมือง”

ทางด้านนายโดมินิก ร้าบ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้แสดงความเห็นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 มี.ค.) ว่า รัฐบาลจีนฝ่าฝืนปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ (Sino-British Joint Declaration) ปี 2527 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแสดงความเห็นของนายร้าบถือเป็นการยกระดับจากแถลงการณ์ของรัฐบาลอังกฤษที่ออกมาก่อนหน้านี้ที่ระบุเพียงว่า การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในฮ่องกงนั้นเป็นการละเมิดสนธิสัญญา

ขณะเดียวกัน นางนาไนอา มาฮูทา รัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีแลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับนางนางมารีส เพนย์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย โดยระบุว่า “การที่จีนมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งของฮ่องกงนั้นถือเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนอำนาจอธิปไตยที่ฮ่องกงพึงมีไปจนถึงปี 2590 ภายใต้การรับรองของปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ”

“การเปลี่ยนแปลงการระบบเลือกตั้งของฮ่องกงถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของการให้ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงต้องมาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังลดทอนอำนาจของสถาบันในระบบประชาธิปไตยของฮ่องกง ตลอดจนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง” แถลงการณ์ระบุ

นักวิเคราะห์ชี้ จีนพร้อมตั้งรับ คาดความขัดแย้งส่อแววยืดเยื้อ

สถานเอกอัครราชทูตจีนในอังกฤษออกแถลงการณ์โต้ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของต่างชาติว่า “นักการเมืองในประเทศเหล่านั้น รวมถึงอังกฤษและสหรัฐ สับสนว่าอะไรถูกอะไรผิด สาดคำพูดให้ร้ายจีนอย่างไร้เหตุผล และยังแทรกแซงกิจการภายในประเทศของจีนอย่างออกนอกหน้า จีนขอประณามการกระทำเช่นนี้ และจีนจะยังคงรักษาจุดยืนอย่างถึงที่สุด”

ด้านนายถ่าม ยู่-ชุง หนึ่งในคณะกรรมการถาวรแห่งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนในฮ่องกงให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Global Times โดยอ้างถึงความเห็นของผู้นำระดับสูงของจีนที่กล่าวในระหว่างการประชุม NPC ร่วมกับผู้แทนจากฮ่องกงว่า รัฐบาลกลางของจีนได้ประเมินสถานการณ์แล้ว โดยจีนจะตอบโต้ด้วยวิธีการทางการทูต และจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันจากฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในจีนคาดการณ์ว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและมหาอำนาจตะวันตกในประเด็นฮ่องกง โดยเฉพาะสหรัฐและอังกฤษจะยังคงดำเนินไปอีกนาน ขณะที่จีนเองก็จะไม่ยอมอ่อนข้อให้อย่างแน่นอน และจะใช้วิธีการทางการทูตและการเมืองเพื่อตอบโต้กลับเช่นกัน แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การออกแถลงการณ์ของฝั่งตะวันตกไม่ใช่เรื่องเหนือความหมายแต่อย่างใด เพราะฝั่งตะวันตกเองก็เคยใช้วิธีการนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้งในประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับฮ่องกง แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ชาติตะวันตกจะยกระดับจากการใช้แค่เพียงคำพูดเล่นงานจีน ไปสู่การใช้มาตรการกดดันจีนเมื่อใด

…ก่อนจะถึงปี 2590 ซึ่งเป็นปีที่ฮ่องกงจะหวนคืนสู่อ้อมอกจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเต็มรูปแบบ หากฮ่องกงเป็นเหมือนลูกที่พลัดพรากจากอ้อมอกพ่อแม่ และถูกเลี้ยงดูจากผู้ปกครองอีกคนที่ได้ปลูกฝังทั้งแนวคิดและอุดมการณ์จนหยั่งรากลึก และเมื่อถึงคราวต้องกลับคืนสู่บ้านของตัวเอง แต่ภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่ไม่คุ้นชินนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ฮ่องกงจะรู้สึกหวาดหวั่นถึงอนาคตในภายภาคหน้า…นับจากนี้ไปอีกเกือบ 30 ปีก่อนที่ฮ่องกงจะกลับสู่ใต้เงาพญามังกร เราก็อาจได้เห็นประวัติศาสตร์โลกบทใหม่อย่างแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top