ปชป.ประกาศผลักดันแก้ปัญหาปากท้อง-แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่แตะหมวดสถาบันฯ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในการประชุมใหญ่สามัญสาขาพรรคประจำจังหวัดประจำปีว่า จากนี้ไป ปชป.จะเดินหน้าทางการเมืองเข้มข้นขึ้น ขณะที่งานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้พิสูจน์แล้วว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง สิ่งไหนที่ได้ยืนยันรับปากไว้กับประชาชนก็เดินหน้าทำจนสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่บรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว และต่อจากนี้จะเดินหน้าผลักดัน 2 เรื่องคู่ขนานกันไป คือ 1.การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ 2.การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น

“ทั้งการแก้ไขปัญหาปากท้องและการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือหัวใจสำคัญที่จะเป็นทิศทางการเดินหน้าในการทำหน้าที่ถัดจากนี้ไปของพรรคประชาธิปัตย์”

นายจุรินทร์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปปช. กล่าวว่า การแก้ปัญหาปากท้องคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ภาวะโควิด-19 และจะต้องพาประเทศเดินหน้าต่อไป ทั้งด้านเศรษฐกิจทำรายได้ให้กับประเทศและเพื่อที่จะเข้าไปจุนเจือรากหญ้าในมิติต่างๆ ให้อิ่มท้องมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนส่วนคำถามว่าทำไมต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ปัญหาปากท้องคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การแก้รัฐธรรมนูญคือการแก้ในทางการเมือง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า การเมืองประเทศไทยยังไม่นิ่งและส่งผลกระทบเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ตราบใดที่ยังติดหล่มอยู่ในเรื่องการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ การเมืองก็จะเป็นอุปสรรคที่จะคอยฉุดรั้งให้เดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบครบถ้วนไม่ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น การเมืองกับเศรษฐกิจจึงต้องคู่ขนานกันไป

“ประชาธิปัตย์มีความชัดเจนว่าเราจะแก้ทั้งปัญหาปากท้องของประชาชนและแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เพื่อให้มีส่วนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจลุล่วงไปด้วยดี เพราะเราเห็นว่าการแกรัฐธรรมนูญคือทางออกของประเทศ”

นายจุรินทร์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า หลังจากกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ผ่าน ตนได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะเมื่อการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างทั้งฉบับมีปัญหาถกเถียงในข้อกฎหมาย แม้ในคำวินิจฉัยของศาล ก็ยังมีข้อเถียงกันอยู่ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ได้ ตนเองจึงคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดต่อปัญหานี้ก็คือต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

อย่างน้อยที่สุดประเด็นที่จะต้องแก้ไขซึ่งเป็นจุดยืนเดิมที่ตนเองได้ประกาศไว้ตั้งแต่มาเป็นหัวหน้าพรรควันแรก คือ จะต้องแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไขและเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมฉบับนี้เขียนไว้แก้ยากมาก โดยระบุเงื่อนไขต่างๆ ไว้ในมาตรา 256 ตราบใดที่ไม่สามารถแก้มาตรา 256 ได้ก็ไม่มีทางแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ประตูประชาธิปไตยไม่มีทางเปิดออกไปให้คนไทยทั้งประเทศเดินหน้าต่อไปได้เลย

“การแก้มาตรา 256 เป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งเหมือนประตูบานแรกที่เราต้องช่วยกันเปิดออกไปเพื่อทำให้เงื่อนไขการเมืองที่ไม่นิ่งให้นิ่งและเดินต่อไปได้ในอนาคต เพราะเมื่อการเมืองนิ่งก็สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนต่อไปได้ ความขัดแย้ง เงื่อนไขก็จะลดลง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการก่อเหตุในทางการเมืองได้อีกต่อไปในอนาคต”

นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนั้นคือเรื่องอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุไว้ว่าให้ผู้ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาในช่วง 5 ปีแรกคือสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตรงนี้จึงเป็นเครื่องหมายคำถามว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญย้อนกลับไปหรือเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยปกติได้หรือไม่ โดยให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนมาเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์ในการเลือกอหรือ ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน ไม่รวมสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถือว่าไม่ใช่คนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ประเด็นนี้ตนเองได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปยกร่างเพื่อพาประเทศของเราเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ด้วย โดยให้แยกเป็นประเด็นๆ ไป

หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่แก้ไขแบบไม่มีขอบเขต การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องเดินไปตามอุดมการณ์ของพรรคคือเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีเงื่อนว่า 1.ไม่ว่าจะแก้รูปแบบไหนต้องไม่แตะหมวด 2 หมวด 2 ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ปชป.เห็นควรคงไว้ซึ่งมาตรา 112 ไม่เห็นด้วยที่จะไปแตะในเรื่องนี้เพราะมาตรา 112 เป็นมาตราที่ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศ เพราะไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีบทบัญญัติในการคุ้มครองประมุขของประเทศ ประเทศไทยก็ควรมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองประมุขของประเทศเช่นเดียวกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top