กฟน.ลงนาม MOU รัฐวิสาหกิจจีนศึกษาร่วมทุนโรงไฟฟ้าขยะพร้อมระบบไมโครกริด

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (SDIC POWER : State Development & Investment Corporation) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อศึกษาแนวทางการร่วมทุนโรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการนำร่องระบบไมโครกริด เพื่อรองรับการขยายตัวของพลังงานทางเลือกในเขตพื้นที่เมืองหลวงและส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่า กฟน. กล่าวว่า ความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบไมโครกริดในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าขยะให้เป็นชุมชนที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าจากสายส่งและสายจำหน่ายหลัก แต่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในครั้งนี้ถือเป็นการตอบสนองนโยบายตามภารกิจของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงาน อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบ Smart Grid ของกฟน.

ทั้งนี้เบื้องต้นจะดำเนินการศึกษาในโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยเตาเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเตาเผาวันละ 500 ตัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ เพื่อนำร่องไปสู่การจ่ายไฟฟ้าแบบไมโครกริด ทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีความมั่นคงมากขึ้น รวมถึงจะศึกษาในโครงการใหม่ๆ ของบริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย

“กฟน.มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ควบคู่กับการใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นิวสกายฯ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยเตาเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งมีระบบการจัดการด้านสิ่งแวคล้อมและการดูแลชุมชนที่ได้มาตรฐานด้วยพันธกิจและศักยภาพดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบไมโดรกริดในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าขยะ ให้เป็นชุมชนที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าจากสายส่งและสายจำหน่ายหลัก แต่จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากการกำจัดขยะมูลฝอย อันจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานทุกรูปแบบของผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่เมืองมหานคร”

นายเหอ หนิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยเตาเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเตาเผาวันละ 500 ตัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่ปี 59 โดยมีระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการดูแลชุมนุมที่ได้มาตรฐาน บริษัทสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับ กฟน.ได้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีสัญญารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Adder ที่ 3.50 บาท/หน่วย

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันบริษัทฯยังได้เป็นผู้ให้สัญญากับทางกทม. ในการลงทุนพัฒนาโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังผลิตแห่งละ 30 เมกะวัตต์ ทั้งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 1 โครงการ และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชอีก 1 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาโครงการที่อ่อนนุชได้จัดทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่หนองแขมยังอยู่ในช่วงการเตรียมทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 29-31 มี.ค.นี้ คาดว่าจะสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 67

อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบ FIT ซึ่งยังต้องรอทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำหนดอีกทีหนึ่ง

“การลงนาม MOU การศึกษาแนวทางร่วมทุนโรงกำจัดมูลฝอยผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน”

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการร่วมมือครั้งนี้ มาจากนโยบายของนายหลี เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ที่ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเรื่องของการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีน โดยมีนโยบายในการส่งเสริมความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจของประเทศต่าง ๆในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และการลงทุน เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางด้านพลังงานไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความกัวหน้าต่อการลงทุนทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป

ด้านนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน.มีแผนนำบริษัทย่อย บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการให้คำปรึกษาการออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษา และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และระบบพลังงานแบบอัจฉริยะ (Smart Energy) แบบครบวงจรเพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดย กฟน.ถือหุ้น 100% ซึ่ง คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งบริษัทแล้ว อยู่ระหว่างรอนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อร่วมลงทุนกับทางบริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด ต่อไป

“บริษัทย่อยดังกล่าวจะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนที่ กฟน.ไม่สามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่เปรียบเสมือนปลาใหญ่ก็จะกลายเป็นปลาที่ไวมากขึ้น และยังสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตมากขึ้นด้วย”

นายจาตุรงค์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,