เงินบาทเปิด 30.91 ต่อดอลล์ ใกล้เคียงวานนี้หลังดอลล์อ่อน ให้กรอบระหว่างวัน 30.80-30.95

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 30.91 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 30.93 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามทิศทางของตลาดโลก หลังดอลลาร์อ่อนค่าตามบอนด์ยีลด์ที่ย่อตัวลง

“บาทแข็งค่าสองสตางค์จากปิดตลาดเย็นวานนี้ตามทิศทางตลาดโลกแต่แข็งค่าน้อยกว่าภูมิภาค น่าจะเป็นผลจากมีแรงซื้อดอลลาร์ช่วงสิ้นไตรมาส”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 30.80-30.95 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (22 มี.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.36002% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.36752%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 108.82 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 108.64/65 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1932 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นนี้ที่ระดับ 1.1905/1906 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 30.906 บาท/ดอลลาร์
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เตรียมพิจารณาปรับแก้ พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 5% เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
  • กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลง “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19”
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ กนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง
  • “แบงก์-นอนแบงก์” สนใจให้บริการโอน-รับเงินด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล แย้ม เครือซีพี-ปูนซิเมนต์ไทย สนใจใช้บริการด้าน “ดีมันนี่” เผยเข้าหารือธปท.แล้วรอไฟเขียว จากนั้นคาดใช้เวลา 3-6 เดือน เข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 และส่งสัญญาณมุ่งเน้นการใช้เครื่องมือที่สนับสนุนการกระจายสภาพคล่องอย่างตรงจุด ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งมีลักษณะไม่ทั่วถึงและตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบาง
  • รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน เพื่อร่วมกันพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมซีพีทีพีพี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลกระทบรวมถึงจัดทำแผนการปรับตัวเสนอกระทรวงพาณิชย์ และฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาในเดือน มี.ค.นี้
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอโมเดลแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ บินตรงลงภูเก็ตแบบไม่ต้องกักตัว วันที่ 26 มี.ค.นี้ จะหารือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ตั้งใจรับนักท่องเที่ยวจีนรายกลุ่มแรก
  • นายกฯสั่งคลังหาวิธีให้คนนำเงินฝากออกมาใช้ในระบบเศรษฐกิจหลังพบช่วงโควิด-19 คนไม่ใช้จ่าย เก็บเงินอย่างเดียวพร้อมเห็นชอบต่อโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 3 คาดเริ่มเดือน มิ.ย.นี้ หลัง “เราชนะ” จบลุ้นคลังชง ครม. 23 มี.ค.นี้ แก้เงื่อนไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ภายใต้แนวคิด “โกดังเก็บหนี้”
  • สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองร่วงลงมากกว่าที่คาดไว้ โดยดิ่งลง 6.6% สู่ระดับ 6.22 ล้านยูนิตในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งสูง, สต็อกบ้านในระดับต่ำ,ราคาวัสดุสร้างบ้านที่พุ่งขึ้น รวมทั้งการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า สกุลเงินดิจิทัลมีความผันผวนอย่างมาก จึงไม่มีประโยชน์มากนักในการเป็นสินทรัพย์ที่สามารถกักเก็บมูลค่า นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า เฟดจะไม่เดินหน้ากระบวนการออกสกุลเงินดิจิทัลของเฟด หากไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (22 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้นจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ผันผวนในตุรกีอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการทองคำภายในประเทศ
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ., ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, กำไรภาคเอกชนไตรมาส 4/2563, รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนก.พ., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top