SAMART มั่นใจปี 64 ทั้งกลุ่มพลิกฟื้นเป็นกำไร เป้าดันรายได้พุ่งแตะ 1.5 หมื่นลบ.

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการทั้งกลุ่มในปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไร จากปีก่อนที่ขาดทุนราว 309 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่ารายได้รวมจะเพิ่มมาที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่สถานการณ์โควิดทำให้รายได้รวมลดลงไปเหลือ 6,491 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจสายธุรกิจ Digital ICT Solutions ที่อยู่ภายใต้การบริหาร บมจ.สามารถเทเลคอม (SAMTEL) รายได้ราว 8 พันล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 5,510 ล้านบาท สายธุรกิจ Digital ผ่าน บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC) คาดว่าจะมีรายได้กว่า 2 พันล้านบาท จากปีก่อนที่มี 569 ล้านบาท ที่เหลือจะมาจากสายธุรกิจ Utilities & Transportation ผ่านกลุ่มสามารถยูทรานส์

ขณะที่รายได้ประจำ (Recurring Revenue) ตั้งเป้าใน 2 ปีนี้มีสัดส่วน 50% ของรายได้รวม โดยปีก่อนรายได้ประจำลดลงมาเหลือ 30% จากอดีตมีสัดส่วน 40%

“ปีนี้กลุ่ม SAMART จะฟื้นตัวจากปีก่อนที่ suffer จากสถานการณ์โควิด-19 SAMTEL ปีก่อนก็ขาดทุนในรอบหลายปี เพราะมีงานในสนามบินเยอะ ปลายปีที่แล้วเรา write-off ไปหมดแล้ว ปีนี้เราเปลี่ยน Business Model เป็น B2G2C มากขึ้น และ SDC จะเปิดตัว Mobile APP หลายธุรกิจปีนี้จะดีขึ้น”

นายวัฒน์ชัย กล่าว

ในส่วน SAMART เพิ่งได้ลงนามสัญญารับงานพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) บนภาชนะบรรจุสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตภายในประเทศทั้งหมด 9 แห่ง รวม 42 สายพานการผลิต มูลค่าโครงการ 8,032 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้เป็นระยะเวลา 7 ปี หรือราวปีละกว่า 1 พันล้านบาท ขึ้นกับจำนวนเบียร์ที่ผลิต อัตรา 0.25 บาท/ขวดหรือกระป๋อง เริ่มรับรู้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2/64 หรือต้นไตรมาส 3/64

ขณะที่บริษัทมองว่าจากการรับงานดังกล่าว ทำให้บริษัทมีโอกาสจะได้งานลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมในสินค้าประเภทสุรา Fruit Beer และ น้ำมันเชื้อเพลิง

นอกจากนั้น กลุ่ม SAMART โดยบริษัท ซีเคียวอินโฟ จำกัด (SECUREiNFO Co.,Ltd.) จับมือกับ Lookout ผู้นำด้าน Mobile Security จากสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ปกป้อง” (PokPong) ที่จะมาช่วยเฝ้าระวังและป้องกันภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดผ่านระบบ Lookout Security Cloud ตรวจจับและป้องกันมัลแวร์ไวรัสได้เร็วกว่าและครอบคลุมกว่า ลดโอกาสการถูกโจมตีจากภัยคุกคามต่างๆ โดยมีฟังก์ชั่นภาษาไทยใช้งานง่าย ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท

แอปฯ ปกป้อง จะเปิดตัวและเริ่มให้บริการหลังจากเทศกาลสงกรานต์ อัตราค่าบริการ 59 บาท/เดือน หรือ 559 บาท/ปี ตั้งเป้าหมายผู้ใช้บริการปีแรก 1 ล้านราย โดยคาดว่าจะมียอดผู้ใช้งาน 1-2% จากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 92 ล้านเลขหมาย เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์โฟนถึง 55 ล้านคน ซึ่งบริษัทกับ Lookout ทำข้อตกลงแบ่งส่วนรายได้ฝ่ายละ 50%

SAMTEL วางเป้ารายได้ปีนี้ 8 พันลบ.เชื่อฟื้นมีกำไรหลังงานได้ใหม่กว่า 1 หมื่นลบ.

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้ SAMTEL มั่นใจว่าบริษัทจะพลิกมีกำไรจากปีก่อนขาดทุน 287.50 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้อยู่ 6,860 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงานใหม่เข้ามาอีกราว 1 หมื่นล้านบาท จากงานที่เข้าประมูลมูลค่ารวมกว่า 1.5-2 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีงานใหม่เข้ามาเพียง 3,265 ล้านบาท เนื่องจากภาครัฐชะลอการประมูลงานหลังจากติดสถานการณ์โควิด-19

สำหรับแนวโน้มงานที่จะได้รับเข้ามาเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการให้บริการระบบธุรกรรมที่ดินแบบออนไลน์ของกรมที่ดิน มูลค่า 5-6 พันล้านบาท งานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 4 พันล้านบาท งานวางระบบกลุ่มธนาคาร อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ รวมมูลค่าราว 1 พันล้านบาท งานของตำรวจ 191 มูลค่า 6 พันล้านบาท โดยในไตรมาส 1/64 ได้เซ็นสัญญาไปแล้ว 800-1,000 ล้านบาท

SDC ลุ้นปีนี้ Turn around จากปีก่อนขาดทุน คาดรายได้สูงแตะ 2 พันลบ.จากปี 63 ต่ำพันลบ.

สำหรับ SDC นายวัฒน์ชัย มั่นใจว่าปีนี้จะ Turnaround และมีรายได้สูงขึ้น มาจากงานการให้บริการ Digital Trunk Radio ที่จะได้งานเพิ่มจากกระทรวงมหาดไทย และ กฟภ.ทั้ง 2 สัญญารวมมูลค่า 4-5 พันล้านบาท คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในไตรมาส 2/64 และปีนี้ยอดผู้ใช้บริการ (subscriber) จะเพิ่มเป็น 9 หมื่นราย

นอกจากนี้จะนำแอปพลิเคชั่นหมอดูมาปัดฝุ่น Relunch เป็น HORO World ที่จะให้บริการดูดวงชะตาตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต คาดว่าจะทำให้รายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท

เลื่อนส่ง CATS เข้าตลาดหุ้นไปปลายปี 65,มองหาโอกาสธุรกิจใหม่

นายวัฒน์ชัย ยังกล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยของบริษัทย่อย คือบมจ. สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ซึ่งถือหุ้นบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ที่ทำธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ได้อีกครั้งในปลายปี 65 เนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจ CATS โดยเฉพาะจำนวนเที่ยวบินลดลงอย่างมาก เหลือ 10-20% แต่ขณะนี้ปรับตัวดีขึ้นกลับมา 30-40% และคาดว่าปีนี้จะมีกำไร ก่อนจะฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติในปีหน้า

กลุ่ม SAMART ยังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุน Start up ผ่าน Angel Fund ซึ่งจะเข้าไปร่วมพัฒนาบริษัทที่มีโอกาสเติบโต หรือเป็นลักษณะ Venture Capital (VC) จากปีที่แล้วได้ลงทุน Start up ในกองทุนต่างประเทศที่สหรัฐ ร่วมกับรพ.ศิริราช เป็นเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า บริษัทมี short list บริษัทที่มีแนวโน้มเข้าร่วมลงทุน 20 ราย และกลุ่มธุรกิจที่จะให้ทุนเริ่มต้น (Early Stage) ราว 25 ผลงาน แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะลงทุนเท่าไร เพราะต้องหารือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้คาดหวังเชิงรายได้ และในส่วนที่ลงทุนกลุ่ม Growth Stage ขณะนี้มี 25 ผลงานที่จะแข่งขัน หรือ Piching ในปลายมี.ค.นี้

รวมทั้งบริษัทยังร่วมพันธมิตรศึกษาธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะจากนิคมอุตสาหกรรม โดยมีลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านคงต้องชะลอออกไปก่อน เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยในปัจจุบันมีอยู่มาก อนึ่ง ก่อนหน้านี้กลุ่ม SAMART เคยเข้าศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top