ฝ่ายวิจัย CIMBT มองเศรษฐกิจไทย Q2/64 แม้ยังครึ้มแต่สดใสขึ้นรอสายรุ้ง Q3/64

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า วัคซีนจะเริ่มฉีดมากขึ้นไตรมาส 2/64 สร้างความเชื่อมั่นได้ดีขึ้น กิจกรรมเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเชิงบวกเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ภาพรวมคาดการณ์อัตราเติบโต 2.6% ในปี 64 ที่ยังไม่เด่นมากนัก เพราะยังขาดการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อฉีดวัคซีนได้เต็มที่ ต่างชาติกลับมามากขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยสดใสมากขึ้น เหมือนสายรุ้งที่กำลังมาเยือนในช่วงไตรมาส 3/64

ฝ่ายวิจัย CIMBT มองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 ยังไม่สดใสจากการระบาดโควิดรอบใหม่ต่อเนื่องจากปลายปี 63 ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจเดือน ม.ค.-ก.พ.64 ยังไม่เปิดเต็มที่ คนระมัดระวังใช้จ่าย ทั้งในห้าง ท้องถนน ออฟฟิศ โดยกระแสการทำงานที่บ้าน (WFH) กลับมา

แต่ปลายไตรมาส 1/64 เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก คนเริ่มจับจ่าย รถเริ่มติด กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มขยับ เห็นสัญญาณโมเมนตัมที่กำลังจะดีขึ้น เศรษฐกิจไทยกำลังจะผ่านพ้นช่วงฟื้นตัวตะกุกตะกัก คาดว่าไตรมาส 1/64 เศรษฐกิจจะหดตัว -4.1% YoY แต่น่าจะติดลบเป็นไตรมาสสุดท้าย และเริ่มเป็นบวกในไตรมาส 2/64 โดยสำนักวิจัย CIMBT คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวก 7.8%

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไตรมาส 2/64 ได้แก่

1. การส่งออกสินค้าจะเร่งตัวมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จีน และโลก โดยสหรัฐกำลังใช้เม็ดเงินอัดฉีดเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐโตเกิน 6% เมื่อคนอเมริกันมีงานทำ มีเงินใช้ ก็จะนำเข้าสินค้าจากไทย อาเซียน จีน และตลาดอื่นๆ เพราะฉะนั้นการส่งออกของไทยไปสหรัฐ จีน อาเซียน และประเทศอื่นๆน่าจะเติบโตตามไปด้วย

2. คนใช้จ่ายมากขึ้น จากการอัดอั้นช่วงไตรมาส 1/64 กลุ่มที่ฟื้นตัวเร็วกว่าเพื่อน คือ กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม สินค้าเล็กๆน้อยๆ

3. มาตรการภาครัฐ ออกมาเร่งการจับจ่าย เร่งการลงทุน เป็นปัจจัยสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเชิงลบที่รั้งเศรษฐกิจไตรมาส 2/64 ยังไม่สดใสถึงขั้นสุด ได้แก่

1. การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น สืบเนื่องจากวัคซีนในประเทศที่เพิ่งเริ่มฉีด ทำให้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามามากนัก สิ่งที่ต้องติดตามคือ มาตรการผ่อนผันเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่น่าจะช่วยในช่วงครึ่งหลังของปี

2. การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวอยู่ แม้การส่งออกสินค้าดีขึ้น การใช้จ่ายของคนในประเทศดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายตัวออกไปในวงกว้าง ขณะเดียวกัน สต๊อกสินค้าที่ค่อนข้างสูงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ยังคงเป็นปัจจัยให้เอกชนชะลอการลงทุน ชะลอซื้อเครื่องจักรใหม่ ชะลอนำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการขาดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เราหวังเรื่องการย้ายฐานเข้ามาลงทุนมากขึ้น หากการฉีดวัคซีนเริ่มแพร่หลายและเปิดรับต่างชาติเข้ามาแล้ว จะเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการลงทุนมากขึ้น

3. การบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะสินค้าที่คนต้องคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจซื้อ คนยังระมัดระวังอยู่ ดังนั้น การบริโภคที่กำลังฟื้นตัวแต่ยังไม่ถึงขั้นกระจายตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหารที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ส่วนสินค้าคงทน สินค้าขนาดใหญ่ สินค้าเกี่ยวกับการลงทุน เช่น บ้าน รถใหม่ จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่มากในไตรมาส 2

ด้านค่าเงินบาทน่าจะดีกว่าที่คาด คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่า หลังจากสหรัฐกังวลเรื่องเงินเฟ้อหลังจากอัดฉีดเงินเข้ามาเต็มที่นำไปสู่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สูงขึ้น มีผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะตามมา คนเลยกังวล เงินไหลกลับไปสหรัฐมากขึ้น ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ดี เงินบาทคงไม่ได้อ่อนค่าแรง เหมือนที่เคยเห็น แม้จะอ่อนค่าบ้างแต่น่าจะชะลอลง และน่าจะเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก

นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดทั้งปี แต่ ธปท.น่าจะเลือกใช้นโยบายการเงินอื่นนอกจากดอกเบี้ย อัดฉีดเงินช่วยเหลือกลุ่ม SME มาตรการอื่นๆ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน ขณะที่นโยบายการเงินเป็นกองหลังรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เราคงต้องหวังให้นโยบายการคลังขับเคลื่อนมากกว่านี้ นอกจากมาตรการโอนเงินกระตุ้นการบริโภคแล้ว อาจเห็นมาตรการจ้างงานหรือสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น

สำหรับอุตสาหกรรมเด่น ที่น่าจะฟื้นตัวไตรมาส 2 ได้แก่

1.รถมือสอง น่าจะฟื้นเร็วกว่ารถป้ายแดง คนประหยัด เลือกซื้อรถมือสองคุณภาพดี

2.มอเตอร์ไซค์ เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าภาคเกษตร รายได้ภาคเกษตร ปีนี้แม้ยังเผชิญปัญหาภัยแล้งอยู่ แต่ปัญหาภัยแรงไม่รุนเรงเท่าปีที่แล้ว กำลังซื้อภาคเกษตรที่ดีขึ้น คนจะหันไปซื้อมอเตอร์ไซค์มากขึ้น

3.อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับค้าปลีกค้าส่ง น่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามกำลังซื้อที่ดีขึ้น มาตรการภาครัฐยังคงสนับสนุน ในการกระตุ้นการบริโภค เป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง

4.อุตสาหกรรมยางรถยนต์ กลุ่มนี้พึ่งพากำลังซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แม้สหรัฐเองจะมีมาตรการตอบโต้ หรือขึ้นภาษี แต่เราคงไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง เรายังคงมีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ดี

5. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหลาย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ คอมพิวเตอร์ส่วนประกอบ บรรจุภัณฑ์ หรือพลาสติก กลุ่มพวกนี้ฟื้นตัวได้ดี เป็นสัญญาณต่อเนื่องได้ช่วงไตรมาสที่ 2 นี้

6. ถัดมาเกี่ยวข้องกับในประเทศ เรื่องของ โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับ คนไข้ในประเทศเพราะคนไข้ต่างประเทศยังเข้ามาไม่เต็มที่ คาดว่าจะมาไตรมาส 3

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top