ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 39 ราย ในปท. 16-ตรวจเชิงรุก 12-ตปท. 11

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 28,773 คน (+39)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 16 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 12 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 11 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 27,313 คน (+74)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,366 คน
  • เสียชีวิตสะสม 94 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16 ราย พบใน กรุงเทพฯ 9 ราย สมุทรสาคร 5 ราย มหาสารคาม 1 ราย กาฬสินธุ์ 1 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 12 ราย พบใน กรุงเทพฯ 6 ราย สมุทรสาคร 5 ราย ราชบุรี 1 ราย
  • เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 11 ราย จากประเทศต้นทางอินเดีย 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย เยอรมนี รัสเซีย ยูเครน กานา โกตดิวัวร์ อียิปต์ ประเทศละ 1 ราย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 28,773 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 9,663 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 16,052 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,058 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 27,313 ราย เพิ่มขึ้น 74 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 94 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ล่าสุดวันนี้ มีจังหวัดเพิ่มใหม่ที่พบผู้ติดเชื้อเป็นรายแรก คือ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับการระบาดในพื้นที่ตลาดย่านบางแค โดยผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า มีประวัติเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อมาเยี่ยมเพื่อน ซึ่งมีประวัติค้าขายอยู่ในตลาดย่านบางแค โดยผู้ป่วยรายนี้เดินทางมากรุงเทพฯ เมื่อ 22 มี.ค.64 และเดินทางกลับบ้านที่กาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 24 มี.ค.64 ซึ่งเดินทางโดยสายการบินไทยเวียดเจ็ท ที่สนามบินสุวรรณภูมิไปลงที่ขอนแก่น แล้วต่อรถตู้จากขอนแก่นไปยังกาฬสินธุ์

จากการสอบสวนโรค ทราบว่าเมื่อถึงบ้านก็มีการขับรถส่วนตัวไปตลาดด้วย โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค. เริ่มมีไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย จากนั้นวันที่ 26 มี.ค. ทราบข่าวว่าเพื่อนที่ไปเยี่ยมที่กรุงเทพฯ เข้ารับการตรวจโควิด และพบว่าติดเชื้อ จึงทำให้ในวันที่ 27 มี.ค. ผู้ป่วยรายนี้รีบไปตรวจที่ รพ. ผลตรวจพบเชื้อโควิดเช่นกัน

“กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเป็น 0 มาตลอด จะเห็นปรากฎการณ์สะเก็ดไฟ สืบเนื่องมาจากการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่หนึ่ง และมีการเดินทางข้ามพื้นที่ ทำให้เกิดการรายงานการติดเชื้อในพื้นที่ที่ไม่มีการรายงานมาก่อน”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ

ทั้งนี้ จากคลัสเตอร์ของตลาดย่านบางแค ทำให้พบว่ามีการกระจายเชื้อไปยังจังหวัดต่างๆ อีกมากถึง 11 จังหวัดจากกรณีของการเดินทางข้ามพื้นที่

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงการรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดที่ตลาดสดอีกแห่งในกรุงเทพฯ คือ ตลาดสดในสะพานสูง โดยผู้ติดเชื้อรายแรกของตลาดนี้ เป็นพ่อค้าเนื้อ อายุ 39 ปี มีบ้านอยู่ที่เขตคลองสามวา เดินทางไปรับเนื้อจากปทุมธานีเพื่อมาขายที่ตลาดสดในย่านสะพานสูง เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.64 และไปตรวจยืนยันพบเชื้อโควิดในวันที่ 18 มี.ค. ส่วนรายที่ 2 เป็นเพศหญิง อายุ 37 ปี อาชีพแม่ค้าขายเนื้ออยู่ที่ตลาดย่านสะพานสูง ซึ่งเป็นภริยาของผู้ที่ติดเชื้อรายแรก ตรวจพบเชื้อวันที่ 27 มี.ค. แต่ไม่แสดงอาการ

“กทม. ได้ลงพื้นที่ และพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในบ้านร่วมกันอีก 7 ราย แต่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ต้องรอผลการสอบสวนโรคอีกครั้ง ซึ่งจะมีการรายงานให้ทราบต่อไป”

พญ.อภิสมัยระบุ

รายที่ 3 เป็นเพศหญิง อายุ 57 ปี อาชีพขายล็อตเตอรี่ในตลาดย่านสะพานสูง เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.64 และตรวจพบเชื้อในวันที่ 22 มี.ค. โดยแม่ค้ารายนี้ ได้มีการเดินทางไปค้าขายล็อตเตอรี่ตามปกติ เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ ส่งผลให้มีการนำเชื้อไปติดบุคคลในครอบครัวอีก 4 ราย คือ คนแรก เป็นลูกสาวอาชีพขายล็อตเตอรี่เช่นกัน คนที่สอง เป็นพี่สาวอาชีพขายล็อตเตอรี่ที่ตลาดร่มเกล้า คนที่สาม เป็นมารดา อายุ 89 ปี และคนที่สี่ เป็นเหลน อายุ 4 ปี กำลังเรียนอนุบาล

“เรามีการงานคลัสเตอร์ของตลาด นำสรุปมาตรการ การเรียนรู้มาย้ำตลอด แต่ก็ยังเห็นพฤติกรรมในลักษณะใกล้เคียงกัน หลายๆ ครั้งที่ชุมชนดูข่าวแล้วไม่ตื่นตัว ทำให้คนในพื้นที่ติดเชื้อแล้วนำกลับไปติดที่บ้าน ไปสัมผัสผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว หรือติดเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในความดูแล ทำให้คนเหล่านี้ติดเชื้อไปด้วย และกลายเป็นพฤติกรรมเสี่ยงไปถึงการเสียชีวิตได้”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทางศบค. ได้ฝากไปยังพื้นที่และเทศบาลต่างๆ ในการดูแลชุมชน ตลาด เนื่องจากปรากฎการณ์สะเก็ดไฟที่เกิดการติดเชื้อในพื้นที่หนึ่งแล้วกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ มีให้เห็นในหลายจังหวัดที่เป็นการเดินทางข้ามพื้นที่และมีการติดเชื้อที่แพร่กระจายไปสู่คนในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด ดังนั้นจึงฝากขอความร่วมมือว่า การเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยในตลาดยังทำได้ แต่ต้องไม่ลืมปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย, การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่าง ยังการ์ดตกไม่ได้

นอกจากนี้ จากที่จะใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีความเป็นห่วงต่อกรณีการเดินทางข้ามจังหวัด แล้วมีการนำเชื้อมาแพร่ให้กับคนในครอบครัว ซึ่งได้มีการหยิบยกกรณีผู้เสียชีวิตรายที่ 94 ของเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ขึ้นมาหารือ เพราะเคสดังกล่าว เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งได้รับเชื้อมาจากบุคคลในบ้านที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ จึงทำให้มีการแพร่เชื้อมาสู่บุคคลในครอบครัวเดียวกันถึง 4 คน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงกรณีการจัดหาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของภาคเอกชนว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ห้ามแต่ขอให้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากการใช้วัคซีนนี้เป็นการอนุญาตใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยการรับรองขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่สิ่งที่ภาครัฐย้ำ คือต้องได้รับการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาวัคซีนโควิดในทั่วโลกยังสามารถผลิตได้ในปริมาณจำกัด เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และเก็บข้อมูลการวิจัย ซึ่งวัคซีนส่วนหนึ่งที่ผลิตได้มีการจัดสรรไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบยุโรปเป็นหลัก ทำให้การหาซื้อวัคซีนของภาคเอกชนเองทำได้ยาก แต่จากนี้ต่อไป การผลิตวัคซีนที่เริ่มมีเพิ่มมากขึ้น การกระจายวัคซีนโดยภาคเอกชนก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนทั้งในส่วนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่องการกระจายวัคซีนของภาคเอกชนมานำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันนี้ ซึ่งในช่วงสัปดาห์นี้ ศบค.จะหารือกับภาคเอกชนกรณีของประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้เสี่ยง หรือเป็นผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าออกต่างประเทศ จะมีการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงได้อย่างไร

นอกจากนี้ จากแนวทางที่จะเตรียมการเปิดประเทศนั้น แต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน จะมีมาตรการในการร่วมดูแลและป้องกันโรคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของหน่วยงานตัวเองอย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรองรับกับการเปิดประเทศได้เต็มรูปแบบ

“นายกรัฐมนตรีได้ฝากเน้นย้ำไว้ว่า ทุกกระทรวง ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน จะต้องนำเสนอมาตรการที่เป็นไปตามการผ่อนคลาย 3 เฟส ที่กำลังจะเกิดขึ้น”

พญ.อภิสมัยกล่าว

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 127,764,765 ราย เสียชีวิต 2,796,087 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 30,962,803 ราย อันดับสอง บราซิล 12,534,688 ราย อันดับสาม อินเดีย 12,039,210 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 4,545,589 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,519,832 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 116

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 64)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top