ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.พ. ทยอยดีขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย-มาตรการรัฐหนุน-ส่งออกฟื้น

  • ธปท.เผยส่งออก ก.พ. หดตัว -0.2% นำเข้า ก.พ. ขยายตัว 23.9%
  • ดุลการค้า ก.พ. เกินดุล US$ 2,137 ล้าน และดุลบัญชีเดินสะพัด ก.พ. ขาดดุล US$ 1,071 ล้าน
  • เศรษฐกิจ ก.พ. ทยอยดีขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย-มาตรการรัฐหนุน-ส่งออกฟื้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินไทยเดือนก.พ. 64 ทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่การส่งออก ไม่รวมทองคำยังขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกในเดือน ก.พ. แม้จะยังทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากหักทองคำออก จะพบว่าการส่งออกขยายตัวได้ถึง 7% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัวได้สูงโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่เริ่มมีการนำเข้ามาเพื่อผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น รวมถึงผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการปิดเมืองของประเทศจีน

ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในเดือน ก.พ.64 เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ ทิศทางขึ้นอยู่กับดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ แต่ในเดือน มี.ค.จะเห็นว่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงมาก เป็นผลจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวออกมาดี อย่างไรก็ดี เงินบาทยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง จากผลของการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติ

พร้อมมองว่า ในภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวแต่ยังไม่ทั่วถึง โดยตลาดแรงงานยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.64 นอกจากนี้การฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจก็ยังมีความแตกต่างกัน เช่น ภาคการผลิตเพื่อส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง, ภาคอสังหาริมทรัพย์ ทรงตัวเนื่องจากสถาบันการเงินยังคงความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ, ภาคการค้า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคปรับดีขึ้น แต่ยอดขายสินค้าคงทนยังฟื้นตัวช้า ส่วนภาคบริการเห็นสัญญาณดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและมาตรการภาครัฐ

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งที่พอจะเห็นได้ชัด คือ โครงการเราชนะ ถือว่ามีบทบาทค่อนข้างมากในการกระตุ้นการบริโภคโดยตรง รวมถึงมาตรการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 และ 2 ยังพอจะมีแรงส่งที่ดี

แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ อาจยังติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 63 เนื่องจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วยังไม่เห็นผลกระทบจากการระบาดของโควิดในรอบแรกมากนัก แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 2/64 โดยได้แรงส่งสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นหลัก รวมถึงการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเมื่อภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลดีไปยังภาคแรงงานที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ต้องติดตามกรณีการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ว่าจะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาได้ตามแผนหรือไม่ โดยประเมินว่าในไตรมาส 3 นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะยังเข้ามาได้ไม่มากนัก แต่จะเห็นการเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยจะอยู่ที่ระดับ 3 ล้านคน

น.ส.ชญาวดี ยังกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ว่ามีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐในากรลดค่าน้ำ-ค่าไฟ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.นี้ จึงจะทำให้เห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top