โฆษก กมธ. เชื่อร่างกฎหมายประชามติ ผ่านวาระ 3

หลังกฤษฎีกาปรับเนื้อหาสอดรับ รธน.

นายวันชัย สอนศิริ สมาขิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ กล่าวก่อนการประชุมว่า เชื่อว่าแนวโน้ม พ.ร.บ.ประชามติน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และไม่มีข้อวิตกกังวลอื่นใดทั้งสิ้น หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ โดยมีการปรับเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 และมาตรา 156 แปลว่าให้อำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 9 ยังเดินไปได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เป็นธรรมดาที่ในชั้นกรรมาธิการจะต้องถกแถลงกันจนตกผลึกและในที่สุดหากหาข้อยุติกันไม่ได้ก็ต้องลงมติ แต่ส่วนใหญ่จะพยายามตกลงกันให้ได้ การลงมตินั้นใช้น้อยมาก แต่จะพยายามใช้ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน

ทั้งนี้ หากในวันนี้ชั้นกรรมาธิการสามารถตกลงกันได้ และหากเสียงข้างมากสามารถผ่านไปได้ เชื่อว่าในวาระ 3 จะผ่านไปได้ และจะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นกฎหมายของรัฐบาล และประการต่อมาที่มีการพูดคุยกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางมาตราจะต้องใช้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ดังนั้นการมีกฎหมายฉบับนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกุญแจดอกแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีที่จะมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายดังกล่าว นายวันชัย มองว่า เมื่อมีการปรับแก้เนื้อหาให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่น่าจะมีผู้ใดไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย เพราะประชาชนอาจจะมองว่าเป็นการดำเนินการเพื่อถ่วงเวลา แต่ยอมรับว่าสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชนก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ หากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ (31 มี.ค. 64) ได้นำเรื่องนี้มาหารือ โดยเบื้องต้นสมาชิกวุฒิสภาไม่ติดใจในการปรับแก้เนื้อหาดังกล่าว

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ กล่าวว่าการพิจารณาจะได้ข้อสรุปภายใน 2 วันนี้ทันเสนอนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 7-8 เม.ย. ตามที่ได้รับปาก นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไว้แล้ว และคิดว่าตัวร่างที่ปรับแก้แล้วน่าจะผ่านวาระ 3 ได้ แต่ต้องดูผลการพิจารณาวันนี้ก่อนว่า กมธ. เสียงข้างมากเห็นด้วยกับตนเองหรือไม่

โดย กมธ.ฯ จะพิจารณามาตราที่มีผลกระทบกับมาตรา 9 จากการคุยนอกรอบกับผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเห็นตรงกันว่า ปรับให้สอดคล้องกับมาตรา 9 แล้ว โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาที่จะไปขัดกับรัฐธรรมนูญ และให้กระทบกับมาตราที่เหลือให้น้อยที่สุด ดังนั้นร่างที่จะเสนอให้ที่ประชุม กมธ.ฯ พิจารณา คือร่างที่มีการแก้ไขเฉพาะมาตรา 10 และมาตรา 11 ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้เป็นมาตราที่ระบุถึงรายละเอียดวิธีการทำประชามติ ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนถึงมติที่มาจาก ครม. รวมถึงมติของรัฐสภา และกฎหมายอื่นๆที่ระบุให้ทำประชามติ

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายประชามติที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับแก้ให้สอดคล้องกับการแก้ไขของรัฐสภาในมาตรา 9 ที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา สามารถมีมติให้คณะรัฐมนตรีจัดการออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ ในมาตรา 10 และ 11 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับแก้ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 นั้น

ในมาตรา 10 กำหนดเงื่อนไขการออกเสียงประชามติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ให้ประธานรัฐสภาแจ้งนายกรัฐมนตรี พร้อมส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และสาระสำคัญ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติ ตามวันที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจะต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน

ส่วนในมาตรา 11 การออกเสียงประชามติในกรณีที่รัฐสภามีมติ เห็นสมควรให้มีการออกเสียงประชามติ และในกรณีที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ โดยประธานรัฐสภา จะต้องแจ้งมติของแต่ละสภา และการเข้าชื่อของประชาชนให้นายกรัฐมนตรีทราบ โดยจะต้องส่งสาระสำคัญ ที่จะขอประชามติให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วย เมื่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันสมควรให้มีการออกเสียงประชามติ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงตามวันที่ได้หารือร่วมกับ กกต. เว้นแต่กรณีที่คณะรัฐมนตรี มีเหตุผลความจำเป็นทางงบประมาณหรือเหตุอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีอาจกำหนดวันที่แตกต่างจากวันที่ได้หารือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top