นายกฯ กำชับเข้มดูแลแนวชายแดน เตรียมหารือจุดยืนเมียนมาในอาเซียนซัมมิท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมชี้แจงสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญและได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานในพื้นที่ชายแดน และให้หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งกองทัพบก กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) บูรณาการทำงานร่วมกัน และประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์ และดูแลผู้หนีภัยจากเมียนมาที่เข้ามาตามแนวชายแดนของไทย โดยจะดูแลตามหลักมนุษยธรรมและหลักสากล

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้ความสำคัญในการดูแลตามหลักสาธารณสุข ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งหน่วยงานได้ยึดถือแฏิบัติและรายงานนายกฯต่อเนื่อง

โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ในเดือน เม.ย.นี้จะมีการจัดการประชุมอาเซียนซัมมิท ซึ่งหวังว่าการประเมินสถานการณ์และความชัดเจนในท่าทีของอาเซียน รวมถึงการได้รับข้อมูลโดยตรงจากเมียนมา ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ประเทศอาเซียนเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น และเตรียมความพร้อมในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการด้วย

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำท่าทีของไทยต่อสถานการณ์เมียนมาว่า ไทยไม่สบายใจต่อรายงานการเสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนเมียนมา จึงขอให้ทางการเมียนมาใช้ความอดทนอดกลั้นในการดำเนินการใดๆ รวมถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ยุติการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พยายามร่วมกันหาทางออกด้วยสันติวิธี ด้วยการพูดคุยผ่านช่องทางที่อย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว

ทั้งนี้ ไทยและอาเซียน รวมถึงเมียนมา กำลังทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดสันติภาพในเมียนมา และให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเกิดประโยชน์ไม่เฉพาะกับเมียนมา แต่จะเป็นประโยชน์กับอาเซียนทั้งภูมิภาคและนอกภูมิภาคด้วย

ส่วนการช่วยเหลือคนไทยในเมียนมานั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับรายงานจากสถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ว่าสถานการณ์ในกรุงย่างกุ้งยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ยังมีการประท้วงและมีการปะทะกันเป็นจุดๆ แต่ยังสามารถจัดหาอาหารและของใช้ได้โดยสะดวกและไม่ขาดแคลน โดยทางกระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล และสถานเอกอัครรราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลืออพยพคนไทยไว้แล้ว และมีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน

ปัจจุบันมีคนไทย ในกรุงย่างกุ้ง 447 คน และในรัฐต่างๆ 272 คน รวมมีคนไทยในเมียนมา 719 คน ที่ได้แจ้งไว้กับสถานทูต และจากการประเมินสถานการณ์ ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเตือนให้อพยพกลับไทย แต่หากสถานการณ์ยกระดับขึ้นอีกก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วทุกขั้นตอน โดยทางสถานเอกอัครราชทูต ได้ประสานเที่ยวบินออกจากเมียนมาสำหรับคนไทยไว้แล้ว 3 เที่ยวบิน เที่ยวบินแรก วันที่ 6 เม.ย.จำนวน 2 เที่ยวบิน และ วันที่ 9 เม.ย.อีก 1 เที่ยวบิน ซึ่งคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับสามารถแจ้งความประสงค์มาได้ ทั้งนี้รัฐบาลขอยืนยันว่า การให้ความช่วยเหลือดูแลสวัสดิภาพคนไทยในเมียนมา และทั้งโลก เป็นหน้าที่สำคัญที่สุด โดยไม่เคยนิ่งนอนใจ เนื่องจากตระหนักในหน้าที่และทำงานอย่างเต็มความสามารถ

ส่วนประเด็นผู้หนีภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมามีชาวเมียนมา เชื้อสาย หนีภัยการสู้รบและข้ามมาฝั่งไทยในพื้นที่อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นผลจากการปะทะของรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ เคเอ็นยู ฝ่ายไทยติดตามอย่างใกล้ชิด และประเมินเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง

ส่วนข้อกังวลที่จะมีผู้หนีภัยเข้ามาจำนวนมาก ฝ่ายความมั่นคงและจังหวัดแนวชายแดน ได้เตรียมความพร้อม แนวปฎิบัติและสถานที่ไว้แล้ว รวมถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

นายธานี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ไทยได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกผู้หนีภัยและผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 คน ซึ่งยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล สำหรับจำนวนผู้หนีภัย นับถึงวันที่ 1 เม.ย.คงเหลือ 216 คน และมีผู้หนีภัยกลุ่มใหม่ เข้ามาอีกจำนวน 951 คน รวมมีผู้หนีภัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งสิ้น 1,167 คน ซึ่งมีการทยอยเดินทางกลับต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top