ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 194 ราย ในปท. 87-ตรวจเชิงรุก 95-ตปท. 12

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 29,321 คน (+194)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 87 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 95 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 12 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 27,840 คน (+66)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 1,386 คน
  • เสียชีวิตสะสม 95 คน (+0)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 194 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 87 ราย พบใน กรุงเทพฯ 45 ราย สมุทรปราการ 9 ราย ชลบุรี 7 ราย สุพรรณบุรี 7 ราย สมุทรสาคร 4 ราย นนทบุรี 4 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 2 ราย ชัยภูมิ 2 ราย ชุมพร 2 ราย ตาก 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย สระแก้ว 1 ราย นราธิวาส 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 95 ราย พบใน นราธิวาส 93 ราย กรุงเทพฯ 1 ราย ปทุมธานี 1 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 12 ราย จากประเทศต้นทาง เอธิโอเปีย 2 ราย บังกลาเทศ 2 ราย เยเมน 1 ราย รัสเซีย 1 ราย บราซิล 1 ราย อินเดีย 1 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย สวีเดน 1 ราย เยอรมนี 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 29,321 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 9,982 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 16,188 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,151 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 27,840 ราย เพิ่มขึ้น 66 ราย ส่วนยอดเสียชีวิตสะสม 95 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อในย่านสถานบันเทิงย่านทองหล่อและเอกมัย และมีการกระจายไปในหลายจังหวัด ทั้ง นนทบุรี นครปฐม ชลบุรี เลย สมุทรสงคราม สระแก้ว ปทุมธานี เชียงใหม่ รวมถึงชุมพร ที่พบผู้ติดเชื้อจากการไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านรัชดาฯ และข้อมูลเมื่อวันที่ 3 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงสะสมไปแล้ว 71 ราย

ซึ่งกรมควบคุมโรคได้รายงานต่อที่ประชุม ศบค.ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจาก สถานบันเทิงส่วนใหญ่มีโครงสร้างเพดานต่ำ ส่งผลต่อระบบการระบายอากาศ และคนที่ไปเที่ยวมีการคลุกคลี ไอจาม หัวเราะ หรือรับประทานอาหาร เครื่องดื่มร่วมกัน นอกจากนี้ พฤติกรรมของคนที่ไปเที่ยวยังมักจะไปเที่ยวสถานบันเทิงหลายแห่งภายในคืนเดียวกัน อีกทั้งมีการเดินทางข้ามจังหวัดใกล้เคียง เช่น กทม. ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม จึงส่งผลให้เมื่อติดเชื้อแล้ว จะมีการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็ว และนำไปติดบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ตลอดจนที่ชุมชน และสถานที่ทำงานด้วย

พญ.อภิสมัย ระบุว่า ในวันนี้ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ข้อสรุปมาตรการดูแลสถานบันเทิง ใน 3 ระดับ คือ ระดับ 1 หากพบว่าสถานบันเทิงใดมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด สถานบันเทิงนั้นต้องถูกปิดทันที โดยต้องปิดเพื่อเฝ้าระวังควบคุมโรคสูงสุดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ระดับ 2 กรณีพบการติดเชื้อในลักษณะโซนพื้นที่ จะมีคำสั่งให้ปิดเฉพาะโซน เช่น โซนทองหล่อ เป็นต้น และระดับ 3 หากเกิดสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณปิดสถานบริการทั้งจังหวัดได้ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

นอกจากนี้ ศบค.ได้เน้นย้ำให้เข้มงวดไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารด้วย ที่แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อโควิดเป็นกลุ่มก้อนเช่นเดียวกับสถานบันเทิง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังและมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีผู้คนเดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ เพราะหากย่อหย่อน สถานประกอบการนั้นอาจต้องถูกสั่งปิด เพื่อควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

“ศบค.จะขอติดตามอย่างใกล้ชิด ชนิดที่เรียกว่าหายใจรดต้นคอท่านทีเดียว หากบางท่านยังกำหนดมาตรการได้ดี วันนี้ท่านไม่ต้องปิด แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง ย่อหย่อนเมื่อไร เกิดมีรายงานผู้ติดเชื้อขึ้น อีก 3 วันสถานประกอบการของท่านอาจจะต้องปิด เพื่อเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ”

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ

ส่วนข้อกังวลหลังการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ว่าจะมีการพิจารณาปรับมาตรการผ่อนคลายช่วงสงกรานต์เพิ่มเติมหรือไม่ โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัดนั้น ผู้ช่วยโฆษกศบค. เชื่อมั่นว่า ขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตัว และ ศบค.มั่นใจในระดับหนึ่ง จึงยังไม่พิจารณามาตรการใดๆ ในขณะนี้ แต่จุดที่น่าเป็นห่วง เช่น ความแออัดในระบบการขนส่ง การจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม และนักท่องเที่ยวที่อาจขาดความระมัดระวัง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ ศบค.เน้นย้ำขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตการที่ ศบค.ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้สั่งการให้มีการกำหนดความรับผิดชอบแก่ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกำกับดูแลมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เพื่อเข้าสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการทยอยผ่อนคลายมาตรการ 3 ระยะ คือ ระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. ระยะที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. ระยะที่สาม ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป หรือเรียกว่าการเปิดประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กำหนดยุทธศาสตร์ป้องกัน ดูแลรักษา การกระจายวัคซีน ประสานงานร่วมกับเครือข่าย รพ.ทั้งหมด, กระทรวงคมนาคม มีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด โดยดูแลสถานีขนส่งทุกประเภท, กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการระบาดในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ต้องดูแลการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว แรงงานตามฤดูกาล ที่พักคนงาน และโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นที่ปลอดจากการแพร่เชื้อโควิด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีมาตรการดูแลให้สถานที่ท่องเที่ยวปลอดภัย และทำงานร่วมกับองค์กรรัฐและเอกชนต่างๆ เป็นต้น

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด หรือ ศบค.ชุดเล็ก ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการแพร่กระจายเชื้อในกรณีเรือนจำ จ.นราธิวาส ซึ่งล่าสุด กรมควบคุมโรคได้รายงานความคืบหน้าการสอบสวนโรค จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.64 จนถึงปัจจุบัน มีผลตรวจ 214 ราย พบติดเชื้อ 112 ราย แบ่งเป็นนักโทษ 88 ราย เจ้าหน้าที่ 25 ราย และพยาบาล 1 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอผล ซึ่งมีผู้สัมผัสทั้งหมด 791 ราย แต่ทั้งนี้ยังมั่นใจว่าจะสามารถจำกัดวงรอบการแพร่กระจายได้

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 131,908,089 ราย เสียชีวิต 2,865,917 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 31,420,331 ราย อันดับสอง บราซิล 12,984,956 ราย อันดับสาม อินเดีย 12,587,920 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 4,822,470 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,580,894 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 115

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top