WHO ชี้วัคซีนแอสตร้าฯอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่ยังไม่มีการยืนยัน

คณะกรรมการที่ปรึกษาความปลอดภัยด้านวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุในวันนี้ว่า การเชื่อมโยงกันระหว่างวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนนาก้า และกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พร้อมกับจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ ถือว่ามีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการยืนยัน

คณะกรรมการของ WHO ระบุว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เป็นพิเศษเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีน และการเกิดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือว่าหายากมาก และมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนนาก้าจำนวนเกือบ 200 ล้านคนทั่วโลก”

แถลงการณ์ระบุ

WHO ออกแถลงการณ์ดังกล่าว หลังจากที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เปิดเผยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ทั้งนี้ EMA จัดการแถลงข่าวในวันนี้เกี่ยวกับผลการประเมินความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

แถลงการณ์ของ EMA ระบุว่า มีความเชื่อมโยงกันที่เป็นไปได้ในการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ได้รับการพัฒนาจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่ EMA ได้ทำการตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันกรณีการเกิดลิ่มเลือดที่ผิดปกติในร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าบางราย

นอกจากนี้ EMA ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และผู้ที่จะได้รับวัคซีนดังกล่าวจะต้องตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้ และให้ความระมัดระวังต่อการเกิดอาการต่างๆในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งได้แก่ อาการหายใจติดขัด อาการปวดหน้าอก อาการบวมที่ขา อาการเจ็บที่ท้อง อาการปวดศรีษะ สายตาพร่ามัว และอาการบวมที่ผิวหนัง นอกเหนือจากบริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีน รวมทั้งอาการทางระบบประสาทอื่นๆ

อย่างไรก็ดี EMA ยืนยันว่า ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ายังคงมีมากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top