สธ.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 965 ราย ในปท. 654-ตรวจเชิงรุก 302-ตปท. 9

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 34,575 คน (+965)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 654 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 302 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 9 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 28,288 คน (+40)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 6,190 คน
  • เสียชีวิตสะสม 97 คน (+0)

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 965 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 654 ราย และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 302 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 34,575 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 13,184 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 18,179 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,212 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 28,288 ราย เพิ่มขึ้น 40 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 97 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศระลอกเมษายนยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยกระจายไปทั่วประเทศ พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในบางจังหวัดที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง การระบาดที่เกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น กลุ่มนักศึกษาออกค่าย และการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มขึ้น

โดยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆ ในระยะ 1 เดือนข้างหน้าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อราววันละ 28,678 ราย แต่หลังจากปิดสถานบันเทิงจังหวัดเสี่ยงและคุมเข้มพฤติกรรมบุคคลแล้วจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ที่วันละ 1,589 ราย ถ้าเพิ่มมาตรการลดกิจกรรมที่มีการรวมตัวจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมาอยู่ที่วันละ 857 ราย และถ้าเพิ่มมาตรการทำงานที่บ้านจะลดผู้ติดเชื้อลงเหลือวันละ 483 ราย

“หลังสงกรานต์นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานราชการใช้มาตรการ WFH เต็มรูปแบบเป็นเวลาสองสัปดาห์ถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย…การล็อคดาวน์จะเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยจะเป็นการล็อคดาวน์เฉพาะจุดซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือวันละไม่เกิน 100 ราย” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศวันนี้พบผู้ติดเชื้อ 42 จังหวัด ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นคนไทยวัยหนุ่มสาว 20-29 ปี โดยจับตาดูกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่อย่างใกล้ชิดเนื่องจากพบผู้ติดเชื้อวันละมากกว่า 100 ราย นอกจากนี้ยังมีจังหวัดอื่นๆ ที่พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า 50 ราย ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส และสระแก้ว ซึ่งแต่ละจังหวัดต้องรีบดำเนินการสอบสวนโรคและสาเหตุของการแพร่ระบาดเพื่อจัดมาตรการที่เหมาะสมของตนเอง โดยผู้ติดเชื้อเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงทั้งหมด 2,626 รายนั้น พบที่เชียงใหม่มีสัดส่วน 79% กรุงเทพ 74% ประจวบคีรีขันธ์และสระแก้ว 66% สำหรับมาตรการที่นำมาใช้ในขณะนี้จะไม่ใช้วิธีปูพรม แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่

“จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าผู้ติดเชื้อ 1 คน จะมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5 คน โดยมีอัตราการติดเชื้อ 5-7% แต่ถ้าเป็นคนในครอบครัวจะมีโอกาสติดเชื้อ 40-50% หรือบางกรณี 100% เลย” นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมสอบสวนโรค กล่าวว่า สำหรับเวชภัณฑ์ทางการแพทย์คงคลังในขณะนี้มีปริมาณเพียงพอ ประกอบด้วย หน้ากาก N95 จำนวน 3,188,721 ชิ้น เพียงพอที่จะใช้ 12 เดือน, หน้ากากอนามัย จำนวน 121,360,699 ชิ้น เพียงพอที่จะใช้ 9 เดือน, ชุดป้องกันนิรภัย จำนวน 512,703 ชุด และแบบใช้ซ้ำ 20 ครั้ง จำนวน 82,988 ชุด เพียงพอที่จะใช้ 5 เดือน, ยา Favipiravir จำนวน 575,783 เม็ด เพียงพอที่จะใช้ 45-50 วัน ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมกำลังสั่งเพิ่มเติมอีก 500,000 เม็ด, ยา Remdisivir จำนวน 466 vials, ห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ 277 แห่ง สามารถตรวจได้ 81,700 ราย

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า ขณะนี้มีปริมาณเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วย โดยมีปริมาณเหลือหลายพันเตียง อีกทั้งมีการเปิด Hospital จำนวน 4,000 เตียง และโรงพยาบาลสนาม ซึ่งรวมแล้วจะมีกว่า 30,000 เตียง และผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันกรณีรุนแรงเฉียบพลัน และป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

“โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อให้มารักษาแล้วไม่มาจะมีบทลงโทษ” นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น ขณะนี้ได้ฉีดไปแล้ว 578,532 โดส ใน 77 จังหวัด แยกเป็น ผู้ได้รับเข็มแรก 505,215 ราย ผู้ได้รับเข็มสอง 73,317 ราย ซึ่งถือว่าการฉีดวัคซีนสามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมมีการนำวัคซีนที่เตรียมไว้ฉีดเข็มสองมาฉีดให้เข็มแรกก่อนบางส่วน

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนั้นขอให้ผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นนำเสนอข้อมูลที่สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ส่วนปัญหาเชื้อโรคกลายพันธุ์นั้นเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นแต่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีการกลายพันธุ์อย่างไร ดังนั้นขอให้ประชาชนมารับวัคซีนตามที่ได้นัดหมายไว้เพื่อร่วมสร้างภูมิต้านทาน โดยยืนยันว่าวัคซีนซิโนแวก และแอสตร้าเซนเนก้าที่นำมาใช้มีสิทธิภาพ 70%

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 137,990,143 ราย เสียชีวิต 2,958,629 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 31,990,143 ราย อันดับสอง อินเดีย 13,686,073 ราย อันดับสาม บราซิล 13,521,409 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,067,216 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,649,710 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 112 และจับตาสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา และมาเลเซีย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 64)

Tags: ,
Back to Top