โบรกฯ จับตา CITI ขายพอร์ตใหญ่บัตรเครดิต-สินเชื่อหลังประกาศยุติธุรกิจ Retail Banking ในไทย

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการที่ซิตี้กรุ๊ป เล็งยุติธุรกิจ Retail Banking ใน 13 ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น เบื้องต้นมองว่าเกิดจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ ความท้าทายด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ จากการชะลอตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค รวมทั้งมีความเสี่ยงเรื่อง NPL สูงขึ้น

ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือลูกหนี้ ด้วยการปรับลดเพดานดอกเบี้ย ทั้งดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือ Personal Loan ลง ซึ่งอาจจะกระทบต่ออัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของซิตี้แบงก์ รวมทั้งภาวะการแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทยที่มีผู้เล่นในตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีเจ้าตลาดเป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศและเป็นบริษัทที่ไม่ได้เป็นธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งตลาดสูง

“ซิตี้กรุ๊ปอาจจะประเมินภาพรวมว่าการแข่งขันในระยะยาวไม่ได้มีความน่าสนใจมาก ภายใต้ความท้าทายทางเศรษฐกิจ มาตรการของรัฐ และการแข่งขันสูงในตลาด ทำให้ตัดสินใจถอนตัวออกไป แม้ว่าจะอยู่ในไทยมาค่อนข้างนาน และมีฐานลูกค้าอยู่มากก็ตาม”นายธนเดช กล่าว

การยุติบริการของซิตี้กรุ๊ปในไทย ทำให้ผู้เล่นรายสำคัญรายหนึ่งในตลาดในประเทศลดลงไป โดยมีสิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้ คือ ความคืบหน้าของทางซิตี้กรุ๊ปว่าจะมีนโยบายจัดการกับพอร์ตบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอยู่อย่างไร และจะมีการประมูลขายหรือไม่ และผู้ซื้อจะเป็นทางธนาคารพาณิชย์ในประเทศ หรือกลุ่ม Non Bank

ด้านกลุ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากการยุติบริการธนาคารพาณิชย์ในไทยของซิตี้กรุ้ปอาจจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มธนาคารที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดนี้ เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกรุงศรี (BAY) ที่เป็นเจ้าตลาดในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคบ และในกลุ่ม Non bank ก็อาจจะเป็นกลุ่ม KTC ที่มีกลุ่ทลูกค้าใกล้เคียงกับทางซิตี้ และในกลุ่มที่เสียประโยชน์จะมีเพียงกลุ่มผู้ที่ทำธุรกิจกับทางซิตี้ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในตลาด

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เชื่อว่า ซิตี้แบงก์ในไทยจะขายพอร์ตต่าง ๆที่ทำธุรกิจในไทย โดยจะหาผู้ซื้อเข้ามารับช่วงต่อในการบริหารพอร์ต ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือ Non Bank ที่จะได้รับประโยชน์นั้น ยังคงต้องรอดูว่าใครจะเข้ามารับซื้อพอร์ตของซิตี้แบงก์เข้ามาบริหารต่อไป เพราะซิตี้แบงก์ถือเป็นผู้เล่นในตลาดที่มีพอร์ตสินเชื่อเติบโตมาต่อเนื่อง ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ การยุติการดำเนินธุรกิจของซิตี้กรุ๊ปในครั้งนี้มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งในไทยและต่างประเทศมากนัก และไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะซิตี้แบงก์ในไทยค่อนข้างเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันของผู้เล่นในประเทศ และมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศไม่สูง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจในการตัดสินใจของบริษัทแม่ หากธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ได้ลงทุนไปไม่สามารถสร้างการเติบโตได้มากเท่าที่วางแผนไว้

ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า การที่ซิตี้กรุ้ป ประกาศยุติการให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าบุคคล (Retail Banking) ใน 13 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้น ส่วนหนึ่งคาดว่าจะเป็นเพราะความท้าทายในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการแข่งขันสูงจากผู้เล่นรายใหญ่ทั้งธนาคารพาณิชย์ และ Non Bank รวมถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีการแพร่ระบาด ทำให้ซิตี้กรุ้ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสหรัฐฯประกาศทยอยยกเลิกการให้บริหารในส่วนของลูกค้ารายย่อยออกมา

อย่างไรก็ตามในส่วนของลุกค้าที่มาใช้บริการผลิตภัณฑ์ของซิตี้ในไทย โดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพราะในส่วนของบริษัทยังต้องมีการดูแลการให้บริการลูกค้าต่อไปจนกว่าจะมีผู้ซื้อที่สนใจเข้ามารับช่วงต่อ และหลังจากทราบข่าวจากทางบริษัทแม่ที่ประกาศออกมา คาดว่าหลังจากนี้ลูกค้าบางส่วนจะมีการย้ายออกมาบ้าง

โดยกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ในช่วงแรกที่ลูกค้ามีการทยอยย้ายออกมานั้นคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นกลุ่ม Non Bank ได้แก่ KTC และ AEONTS ซึ่งเป็นบริษัทที่คาดว่าลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวจะย้ายเข้ามาในช่วงแรก และในส่วนของผู้ที่จะเข้ามารับช่วงต่อในการเข้าซื้อพอร์ตของซิตี้นั้นมองว่าเป็นโอกาสของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการที่จะเข้ามาซื้อพอร์ของซิตี้ จากการที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีศักยภาพและมีความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีกว่ากลุ่ม Non Bank และการที่มีเงินทุนรองรับมากกว่า

ทั้งนี้คาดว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะเป็นผู้ที่เข้ามาซื้อพอร์ตของซิตี้ไปบริหาร และเมื่อมองดูกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในตลาดนั้นมองว่า SCB ยังมีความสามารถในการเข้าซื้อค่อนข้างมาก เพราะเป็นธนาคารที่ยังมีเงินสดในมืออยู่มาก หลังจากที่ได้ขายไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLife) ให้กับ FWD ไป และได้เงินจากการขายเข้ามาในหลักแสนล้านบาท และเป็นธนาคารหันมาเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Wealth ซึ่งสามารถนำพอร์ตที่ได้จากซิตี้มาต่อยอดได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าซิตี้โกลด์ที่มีการใช้บริการเงินฝาก กองทุนรวม และบัตรเครดิต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top