BBL เผยกำไร Q1/64 โต QoQ ตามรายได้เพิ่ม-ค่าใช้จ่ายลดลง แต่หดตัว YoY

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 1/64 จำนวน 6,923 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,525 ล้านบาท จากไตรมาส 4/63 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย เงินรับฝากลดลงจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.17

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากค่าธรรมเนียมการให้บริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 51.1

อย่างไรก็ตาม BBL รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 6.92 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 3.63 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.67 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 4.02 บาท

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,326 ล้านบาท ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,369,276 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2563 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อน โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 187.3

ด้านสภาพคล่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,904,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากสิ้นปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจากเงินรับฝากทุกประเภท สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 81.6 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ด้านเงินกองทุน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ร้อยละ 15.9 และร้อยละ 15.1 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

BBL ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 รวมถึงมาตรการในการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดในบางพื้นที่ ขณะที่การส่งออกของประเทศไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มขยายตัวจากพัฒนาการการแจกจ่ายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากภาคการท่องเที่ยวที่มีความไม่แน่นอนในการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในไตรมาสต่อ ๆ ไป แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชน นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐจะมีส่วนช่วยพยุงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในช่วงหลายเดือนข้างหน้าเช่นกัน

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลา รวมถึงการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกัน รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินการออกมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ประสบปัญหาที่แตกต่างกัน และเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายหลังโควิด-19 ตามฐานวิถีชีวิตใหม่ ธนาคารมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลกำลังเผชิญในขณะนี้ ธนาคารจึงยังคงเน้นการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่ยังคงรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top