สธ.ยังไม่สรุปหญิงสาวเสียชีวิตปริศนาหลังฉีดวัคซีนโควิดเพียง 2 วันวอนรอผลชันสูตร

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีที่มีหญิงสาววัย 23 ปีเสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 วันว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ ขอให้รอผลชันสูตรอย่างละเอียดก่อน คณะกรรมการพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนจะนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณาประกอบกันเพื่อวินิจฉัยหาข้อสรุป

“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอผลชันสูตรโดยละเอียด จะได้คำตอบที่ชัดเจน” นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเป็นพนักงานขายเครื่องสำอางของบริษัทแห่งหนึ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนของซิโนแวกเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร จากนั้นในวันที่ 22 เม.ย.ไปทำงานปกติ แต่ช่วงบ่ายมีอาการอาเจียน วิงเวียนศีรษะ จึงลางานมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จ.ปทุมธานี จนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 23 เม.ย.

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นเหตุรุนแรงที่จะต้องมีการสอบสวนโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเรื่องชันสูตรโดยละเอียด จึงจะสามารถวินิจฉัยสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยส่วนใหญ่อาการไม่พึงประสงค์มักเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ หลังได้รับวัคซีน แต่กรณีนี้เกิดขึ้นข้ามวัน

“บางครั้งคนเราที่มีร่างกายแข็งแรงวิ่งมินิมาราธอนได้สบายๆ มาวันนี้มีอาการป่วยเฉียบพลันเสียชีวิตได้ อาจเป็นเหตุบังเอิญที่มาเกิดหลังฉีดวัคซีน หรืออาจเกิดจากการฉีดวัคซีนก็ได้ ต้องรอข้อมูลทุกด้านมาประกอบกัน ทั้งข้อมูลวัคซีนล้อตไหน ประวัตการรักษา เมื่อนำมาพิจารณาประกอบผลชันสูตร หรือผลแล็บเพิ่มเติมจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 2 ราย แต่เมื่อมีผลชันสูตรออกมาแล้วยืนยันได้ว่าสาเหตุของเสียชีวิตไม่ได้มาจากการฉีดวัคซีน และทั่วโลกก็ยังไม่เคยพบการเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ขณะที่ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในขณะนี้แม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงเกินวันละ 2 พันราย จึงยังสรุปว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศดีขึ้นไม่ได้ เพราะสถานการณ์อาจมีการแกว่งตัวเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งหวังว่าการแพร่ระบาดจะลดลงเป็นระฆังคว่ำ

“สถานการณ์ยังสรุปว่าดีขึ้นไม่ได้ ยังไว้วางใจไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนที่จะปฏิบัติตัวตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อหรือไม่” นพ.เฉวตสรร กล่าว

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบสัปดาห์นี้ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหม่เพิ่มเติมอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ งานเลี้ยงสังสรรค์ที่จังหวัดนครสวรรค์พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย, งานบวชที่จังหวัดสระแก้วพบผู้ติดเชื้อแล้ว 16 ราย, งานบวชที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบผู้ติดเชื้อแล้ว 17 ราย และโต๊ะสนุกเกอร์ที่จังหวัดระนองพบผู้ติดเชื้อแล้ว 5 ราย

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนนั้น ก่อนที่จะได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน มิ.ย.64 ได้มีความพยายามในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่งได้รับมอบวัคซีนซิโนแวกจำนวน 5 แสนโดส และกำลังจัดหาเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส โดยล่าสุดมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,149,666 โดส ใน 77 จังหวัด แยกเป็น วัคซีนเข็มแรก 972,204 ราย และวัคซีนเข็มสอง 177,462 ราย

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยริวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาคลีนิกแล็บในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไม่มีระบบส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อไปเข้ารับการรักษานั้น กระทรวงฯ ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาแล้ว โดยทำข้อตกลงกับคลีนิกแล็บในพื้นที่ กทม.จำนวน 14 แห่งที่ให้บริการตรวจหาเชื้อ และภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของภาคเอกชน เพื่อให้เพียงพอที่จะให้บริการประชาชนที่มีความต้องการสูง

นอกจากนี้ กรมสนับสนุนฯ ได้มอบหมายให้ อสม.ลงพื้นที่ไปกระตุ้นเตือนประชาชนเรื่องการฉีดวัคซีน รวมถึงการตรวจสอบสุขภาพของประชาชนในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ว่าเกิดการติดเชื้อหรือไม่

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top