AOT รับโควิดระลอก 3 มีผลเปิดน่านฟ้า ต.ค., กันเงินกู้ 2.5 หมื่นลบ.เติมสภาพคล่องปี 65

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีอยู่ต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารของทั้ง 6 สนามบิน โดยปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารกลับมาลดลงอีกครั้งที่ 18,000 คน/วัน ใกล้ระดับต่ำสุดในการระบาดโควิด-19 ระลอกสองที่ 15,000 คน/วัน

ทั้งนี้ มองว่าการระบาดระลอกที่ 3 อาจจะส่งผลกระทบต่อกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม สายการบิน และหากการระบาดยังมีต่อเนื่องก็อาจจะกระทบกับแผนเปิดน่านฟ้ารับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ต.ค.64-มี.ค.65 หรือตารางบิน Winter 2021/2022 แต่อย่างไรก็ดีมองภาพใหญ่ของการท่องเที่ยวขณะนี้ก็ยังทำได้ดี

“เรามองแต่แรกแล้วว่า Winter 2021/2022 ที่เริ่ม ต.ค.64 ธุรกิจการบินคงยังไม่กลับมา เพราะการเจรจาตารางบิน Winter 2021/2022 ในเดือน เม.ย. 64 เห็นแล้วว่ายังไม่ฟื้น ก็ต้องมาลุ้นตารางบิน Summer ปี 65(เม.ย.-ก.ย.65) ที่จะคุยกันในเดือน ต.ค.64 เป็นช่วงที่มีภูเก็ตแซนด์บ๊อก”

นายนิตินัย กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่า ในงบปี 65 (ต.ค.64- ก.ย.65) หากธุรกิจการบินยังกลับมาไม่สมบูรณ์ในช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค.64-ม.ค.65) ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ก็จะกระทบกับยอดผู้โดยสารทั้งปีไปด้วย และจะส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท คาดว่าในงบปี 65 อาจประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังจากประเมินผลประกอบการในงบงวดปี 64 จะประสบผลขาดทุน ทำให้บริษัทมีเงินสดไม่พอดำเนินการในงบปีถัดไป

ดังนั้น บริษัทจึงได้ขออนุมัติวงเงินกู้หรือออกหุ้นกู้จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทจากคณะกรรมการบริษัทเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อใช้ในงบปี 65 โดยระหว่างนี้ได้จัดทำอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับออกหุ้นกู้ แต่ทั้งนี้หุ้นกู้มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ก็ต้องพิจารณากันว่าหากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อก็อาจจะพิจารณาออกหุ้นกู้ แต่หากประเมินว่าเปิดประเทศสำเร็จ ธุรกิจการบินฟื้นตัวได้เร็วอาจจะใช้เงินกู้สถาบันการเงินที่มีระยะเวลาสั้นๆ ขณะที่ปัจจุบัน บริษัทมีสภาพคล่องราว 2.3 หมื่นล้านบาทเพียงพอต่อในงบปี 64 (สิ้นสุด ก.ย.64)

ขณะเดียวกันบริษัทก็ยังดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ทิศตะวันตก (West Expansion) และทิศเหนือ (North Expansion) รวมวงเงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้รองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคนต่อปี โดยปัจจุบันรอการทบทวนข้อมูลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ส่วนสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ทำข้อมูลเสร็จแล้ว จากนั้นจะนำเข้าเสนอคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาและอนุมัติ และจากนั้นเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป โดยคาดภายในปี 64 จะสามารถเริ่มการประกวดราคาได้

ส่วนโครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีการประชุมเกี่ยวกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นขั้นตอนสุดท้ายในเดือน พ.ค. และเตรียมประกวดราคาได้ในช่วงปลายปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top