เปิดยื่นซองโรงไฟฟ้าชุมชนวันแรกคึกคักจากยอดจองคิวรวม 250 ราย UAC โดดร่วม

นายเสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเอกสารคำเสนอขายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ.2564 ที่จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เม.ย.ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.

การยื่นซองเอกสารดังกล่าวจะเป็นไปตามคิวที่จองผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเปิดรับเพียงวันละ 84 คิว โดยจะต้องจ่ายเงินค่าวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า (Bid Bond) จำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ของปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย แต่เข้ามาจองคิวยื่นซองเอกสารไว้เพียง 250 ราย

วันแรกมีผู้จองคิวมารอยื่นเอกสารตั้งแต่เวลา 08.00 น.ประมาณ 50 ราย และไม่ได้มายื่นตามคิวที่จองไว้ 4-5 ราย ซึ่งจะต้องไปลงทะเบียนจองในระบบออนไลน์ใหม่ ปัจจุบันเหลือคิวให้จองในวันที่ 28 เม.ย.อีก 71 คิวเท่านั้น ส่วนวันที่ 29-30 เม.ย.จองคิวเต็มแล้ว

นายเสกสรร กล่าวว่า การพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการจะมีคณะกรรมการที่พิจารณาด้านเทคนิคมาจาก 9 หน่วยงาน ทั้งตัวแทน กฟภ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.),สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.), คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) รวมถึงเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและผังเมือง และตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งจะเปิดให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมได้และอุทธรณ์ได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิค ได้แก่

1.มูลค่าจดทะเบียนต้องไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ติดตั้ง

2.บริษัทที่ยื่นประมูลต้องเป็นบริษัทเดียวกับที่ยื่นขอเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าง

3.วิสาหกิจที่ร่วมกับบริษัทนั้นๆ ต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้อง

4.วิสาหกิจ ต้องมีจำนวนสมาชิกครบ 200 ครัวเรือน และมีข้อตกลงกับบริษัทที่ร่วมประมูลอย่างไร มีการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) หรือไม่

5.การให้ผลตอบแทนกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

6.ความถูกต้องของโครงสร้างบริษัท เช่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 90% ของบริษัท และให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% กับวิสาหกิจชุมชนหรือไม่ และวิสาหกิจชุมชนยอมรับหรือไม่

7.ความพร้อมด้านที่ดิน ทั้งการได้มาของที่ดิน การเชื่องโยงระบบสายส่งไฟฟ้า

8. เงินลงทุน มีสถาบันการเงินสนับสนุนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าโครงการหรือไม่

9. ความพร้อมด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพมีความสอดคล้องกับโรงไฟฟ้าหรือไม่ และการออกแบบโรงไฟฟ้าเป็นอย่างไร

10. ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ และถ้าเชื้อเพลิงไม่พอมีแผนสำรองอย่างไร

นายเสกสรร กล่าวว่า จะปิดรับยื่นซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาในวันที่ 30 เม.ย.64 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ยื่นเอกสารทั้งหมด รวมถึงจะตรวจสอบเอกสารและแจ้งสิทธิในรายที่เอกสารไม่ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ ให้มายื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยในวันที่ 7 พ.ค.จะแจ้งผลทาง email และเปิดให้ยื่นเอกสารเพิ่มในวันที่ 13,14 และ 17 พ.ค.จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค ในวันที่ 21 พ.ค.ทางเวปไซต์ PPIM และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา พร้อมชี้แจงเหตุผล

หากผู้ยื่นต้องการอุทธรณ์ผลการพิจารณาสามารถยื่นต่อ กกพ.ได้ภายใน 15 วัน (ภายในวันที่ 4 มิ.ย.) โดย กกพ. จะแจ้งผลการอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 ก.ค. และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในวันที่ 15 ก.ค.จากนั้นจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วันนับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ (ภายในวันที่ 12 พ.ค.) ต่อไป

อนึ่ง โครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์

อัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top