AAV ร่วง 3% โบรกฯมองความเสี่ยงชำระบัญชีจากปรับโครงสร้าง-ไม่คุ้ม

หุ้น AAV ราคาไหลลง 3.08% มาอยู่ที่ 2.52 บาท ลดลง 0.08 บาท มูลค่าซื้อขาย 54.69 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.06 น. โดยเปิดตลาดที่ 2.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 2.54 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 2.46 บาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) คาดจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการถูกชำระบัญชี โดยการปรับโครงสร้างกิจการของ AAV ในที่สุดแล้วจะมีการชำระบัญชีเพื่อนำมาคืนกับผู้ถือหุ้น AAV ก่อนแล้วจะออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่ได้จ่ายเป็นเงินสดแต่จะได้หุ้นไทยแอร์เอเชียแทน อัตราการแลกเปลี่ยนหุ้น (swap) ในอัตราการคืนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นของบริษัทฯ ต่อ 0.098785 หุ้นของไทยแอร์เอเชีย

มูลค่าหุ้น AAV ที่ได้คืน ขึ้นกับราคา IPO ของไทยแอร์เอเชีย ในกรณีหากใช้ราคาหุ้นเพิ่มทุนหรือราคาแปลงสภาพจากเงินกู้ของไทยแอร์เอเชียที่ 20.3925 บาท/หุ้น มาคำนวณจะได้ราคาหุ้น AAV ที่เพียง 2.01 บาท เทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่ในขณะนี้ที่ 2.60 บาท ก็ดูเหมือนว่าจะไม่คุ้ม แต่ความจริงขึ้นกับราคา IPO ของไทยแอร์เอเชียที่จะมีการกำหนดในอนาคตว่าจะเป็นเท่าใด ซึ่งคาดว่าจะสูงกว่าที่ 20.3925 บาท/หุ้น

ดังนั้น ราคา IPO ของไทยแอร์เอเชีย จึงมีความสำคัญกับราคาหุ้น AAV ในขณะนี้มาก หากพิจารณาตามภาวะอุตสาหกรรมก็ยังไม่สดใส เพราะธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มาก ทำให้จำกัดการเดินทาง แต่การมีวัคซีน ก็เริ่มจะทำให้มีความหวังในระยะยาวมากขึ้นที่ธุรกิจจะสามารถฟื้นกลับมาได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าราคา IPO จะขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่ามีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วเพียงใด จากนี้ไปในเรื่องการปรับโครงสร้างต้องผ่านมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน และกระบวนการในการจัดทำ IPO ของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งคาดกันว่าจะใช้เวลาทั้งหมดอีกประมาณ 7.5 เดือน

แต่ข้อเสียประการหนึ่งที่มองเห็น คือ Dilution Effect ค่อนข้างมากที่จะเกิดกับ ไทยแอร์เอเชีย คือ เงินกู้แปลงสภาพจำนวน 3,150 ลบ.จากนักลงทุนใหม่ที่มีโอกาสแปลงได้ใน 3 ปี การแปลงหนี้เป็นทุนของไทยแอร์เอเชียอีก 3,900 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาหนี้ เจ้าหนี้หนึ่งรายจะใส่ทุนช่วยเหลือมาให้อีก 513 ล้านบาท หุ้นที่เกิดจากการ IPO และหุ้นที่จัดสรรให้กับนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อีกไม่เกิน 45 ล้านหุ้น

สรุปคือ การเข้าไปซื้อเก็งกำไรหุ้น AAV เรื่องการมีโอกาสจะรอดได้ แต่ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องราคา IPO ไทยแอร์เอเชีย และภาวะ Dilution Effect หรือจำนวนหุ้นที่จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในอนาคต จากการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะในที่สุด AAV ก็จะต้องถูกชำระบัญชี และออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯไป (Delisting) และมี ไทยแอร์เอเชีย มาเป็นบริษัทจดทะเบียนฯ (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯแทน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top