กทม.เร่งสำรวจผู้ป่วยตกค้างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับมาตรการเคร่งครัด

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ วันนี้ (1 พ.ค.) มีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 739 ราย โดยเชื่อมโยงความเสี่ยงจากการรับเชื้อ ดังนี้ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกและค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน การไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว การไปสถานที่แออัด เช่น งานแฟร์ คอนเสิร์ต เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาและตรวจสอบผู้ป่วยติดเชื้อที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาหรือเป็นผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมอบหมายสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจและค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อที่ตกค้างภายในพื้นที่ พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลประวัติและคัดกรองโรคเบื้องต้น และนำส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันส่งต่อให้ศูนย์เอราวัณ เพื่อให้ศูนย์เอราวัณทำการโทรประสานเพื่อตรวจสอบและคัดกรองระดับการติดเชื้อของผู้ป่วยก่อนนำส่งโรงพยาบาลได้รวดเร็วขึ้น โดยวานนี้ (30 เม.ย.) ศูนย์เอราวัณ 1669 ได้นำส่งผู้ป่วย 192 ราย และไม่มีผู้ป่วยรอนำส่งเข้าระบบการรักษาตกค้าง

สำหรับจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น 1,291 ราย ดังนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 207 เตียง โรงพยาบาลสนาม กทม. ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 1,700 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 926 เตียง ยังว่างอยู่ 774 เตียง

ปลัดกทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครได้ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) แก่กลุ่มเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา โดยกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนและดำเนินการฉีดไปแล้ว คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้าและมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย กลุ่มผู้ที่มีอยู่ในกลุ่มโรคเสี่ยง 7 โรค และกลุ่มผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

สำหรับประชาชนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ประสงค์รับวัคซีนให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น Line Official Account (Line OA) “หมอพร้อม V.2” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนพร้อมกันวันนี้ (1 พ.ค.) และเริ่มรับบริการฉีดวัคซีน 7 มิ.ย.เป็นต้นไป โดยสามารถเลือกรับบริการได้ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา โดยประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (นับถึงวันที่ 1 ม.ค. 65) และบุคคลที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ โรงทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

ส่วนประชาชนทั่วไปอายุระหว่าง 18 – 59 ปี นั้น จะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเดือน ก.ค. 64 และเริ่มรับบริการฉีดวัคซีนในเดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top