ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,041 ราย เสียชีวิต 31 ราย

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 71,025 คน (+2,041)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,943 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 97 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 1 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 40,984 คน (+1,726)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 29,765 คน (+284)
  • เสียชีวิตสะสม 276 คน (+31)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,041 ราย ประกอบด้วย

– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,943 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 97 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศผ่านการคัดกรองและเข้าสถานกักกัน 1 ราย เป็นชาวกัมพูชา
– มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 13 ราย ค่ามัธยฐานของอายุ 58 ปี (31-83 ปี) ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 71,025 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 45,288 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 22,411 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,326 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 40,984 ราย เพิ่มขึ้น 1,726 ราย กำลังรับการรักษา 29,765 ราย อาการหนัก 981 ราย โดยใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 276 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.เปิดเผยว่า จำนวนผู้เสียชีวิตวันนี้สูงถึง 31 รายนี้ ศบค.ให้ความสำคัญมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้าถึง 6 ราย มีประวัติสัมผ้สใกล้ชิดเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน 2 ราย มีการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันถึง 15 ราย และในจำนวนนี้ กลุ่มที่เสียชีวิตก่อนที่จะทราบผล 2 ราย และทราบผลในวันที่เสียชีวิต 1 ราย จากรายงานไทม์ไลน์ผู้เสียชีวิต 3 รายดังกล่าวพบว่ามีอาการตอนแรกไม่ได้มีภาวะรุนแรง และ ไม่ตระหนักว่ามีการติดเชื้อโควิด-19

เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยสะม ระลอกเม.ย.64 มีจำนวน 42,162 ราย จะเห็นทิศทางที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในปลายเดือนเม.ย. 64 ตอนนี้ทิศทางในเดือน พ.ค. 64 ดูเหมือนค่อนข้างชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาแยกเป็นพื้นที่ จะพบว่า กรุงเทพมหานคร จะมีผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยร่วมบ้านมากขึ้น จากเดิมมาจากสถานบันเทิง

โดย 10 จังหวัดอันดับแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด ณ วันที่ 3 พ.ค.64 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 675 ราย นนทบุรี 277 ราย สมุทรปราการ 161 ราย ชลบุรี 153 ราย สุราษฎร์ธานี 69 ราย เชียงใหม่ 55 ราย ปทุมธานี 51 ราย นครศรีธรรมราช 48 ราย สมุทรสาคร 45 ราย และพัทลุง 43 ราย

สรุปรวม กรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีทิศทางสูงขึ้น ส่วนในต่างจังหวัด 73 จังหวัดมีแนวโน้มชะลอตัว มีทิศทางที่ควบคุมได้ดีขึ้น

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีการพูดคุยพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังเห็นยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ของกรุงเทพมหานคร มีจำนวน 13,283 รายจากทั่วประเทศมี 40,121 ราย ที่เน้นย้ำไปที่ตลาด ชุมชน และขนส่งมากถึง 674 ราย และเมื่อจำแนกเป็นเขตมีรายงานผู้ป่วยหน่าแน่นได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลวง บางกะปิ สวนหลวง และ ภาษีเจริญ

กทม.ยังได้วิเคราะห์ผู้เสียชีวิตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 52 ราย อายุ 27-91 ปี และส่วนใหญ่มีประวัติร่วมบ้านกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า นอกจากนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในมหาวิทยาลัย โรงเรียน และ ร้านอาหาร

รวมทั้งได้มีการหารือสถานการณ์ชุมชนคลองเตย โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เสนอรายงานผู้ติดเชื้อและการค้นหาเชิงรุกในชุมชนคลองเตยซึ่งเป้าหมายจะมุ่งเป้าไปที่ 39 ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมือง ชุมชนแออัด ชุมชนที่อยู่ในส่วนเคหะ ซึ่งปัจจุบันมีผลตรวจติดเชื้อ 304 ราย โดยใน 193 รายจะอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัด

ทั้งนี้ ใน 39 ชุมชนมีชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อหนาแน่นอยู่ใน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชน 70 ไร่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน จึงได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกในุชุมชนโดยใช้รถพระราชทานลงไปเก็บตัวอย่าง โดย 27 เม.ย. 64 ที่ชุมชน 70 ไร่ ตรวจจำนวน 436 ราย พบเชื้อ 21 ราย (4.81%) ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจจำนวน 489 ราย พบเชื้อ 29 ราย (5.93%) 30 เม.ย.64 ตรวจชุมชนพัฒนาใหม่ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย (11.92%) รวมทั้งหมดเข้าเก็บตัวอย่าง 1,336 ราย ผลพบเชื้อ 99 ราย หรือ 7.41% นอกจากนี้มีรายงานผู้เสี่ยงสูงเกือบ 1,000 ราย โดยสำนักงานเขต สำนักอนามัย สปคม.มีแผนที่จะระดมตรวจกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้ขอกำลังสนับสนุจากศบค.ทั้งเรื่องบุคคลากร LAB รวมทั้งบ่ายนี้จะหารือในเรื่องปูพรมตรวจชุมชนด้วย และการจัดการคัดแยกผู้ป่วย ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด19 ที่วัดสะพาน ระหว่างรอนำส่งไปรักษาต่อที่รพ. หรือรพ.สนาม เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ และดูแลเบื้องต้น

นอกจากนี้ จะมีการหารือค้นหาเชิงรุกในชุมชนคลองเตย รวมทั้งการจัดการนำส่งผู้ติดเชื้อไปรักษาในสถานที่เหมาะสม โดยมีผู้นำชุมชนลงพื้นที่ตรวจหาว่ามีใครที่มีความเสี่ยงและแนะนำให้กักกันอยู่ในบ้านก่อน โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ ผู้นำชุมชน และองค์กร์ภาครัฐภาคเอกชน ช่วยลงพื้นทีใน 3 ชุมชนหลัก ทั้งจัดเตรียมอาหาร สาธารณูปโภค เพื่อลดการเดินทาง ลดการสัมผัสผู้อื่น อีกทั้งจะมีการจัดสรรวัคซีนฉีดในกลุ่มเป้าหมายในชุมชนที่มีรายงานผู้ติดเชื้อสูงด้วย

ที่ประชุมวันนี้ ยังได้หารือถึงชุมชนบ่อนไก่ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน 60 ราย ทางศูนย์บริการสาธารณสุขตอนนี้ได้มีการจัดการใกล้เคียงกับชุมชนคลองเตย มีรถพระราชทานลงพื้นที่ซึ่งมีแผนลงตรวจให้ได้ 4,000 ราย

นอกจากนี้ กทม.ก็พยายามค้นหาพื้นที่อื่นiที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดจะต้องมีการเตรียมการเฝ้าระวังรับมืออย่างไร โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้นำเสนอข้อมูลชุมชนหนาแน่นในกทม.ทั้งหมด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมาย 680 จุดทั่วกทม. ซึ่งได้นำรายงานผู้ติดเชื้อมาแยกเขต พบว่าผู้ติดเชื้อสีแดง มี 301 ราย อยู่ 6 เขตซึ่ง GISTDA ได้ปักหมุดเพิ่มเติมชุมชน โดยเฉพาะตลาด 746 จุด จะมีทั้งตลาดถาวร และตลาดนัดที่มีบางช่วงเวลา พร้อมวางแผนการลงทุนพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น มีตลาด มีที่รวมกลุ่มไปจับจ่ายใช้สอย ต้องมีมาตรการในการลงพื้นที่ หรือกำหนดการคัดกรองเชิงรุกอย่างไร รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนโรงพยาบาลรักษาและโรงพยาบาลสนาม เพื่อวางแผนรับมือด้วย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ มีหารือขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานความมั่นคงตามแนวชายแดนจากที่เฝ้าระวังเข้มข้นในชายแดนพม่า ให้เพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวชายแดนมาเลเซีย กัมพูชา พม่า ลาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 64)

Tags: ,
Back to Top