คมนาคมเตรียมพร้อมก่อนเปิดรถไฟสายสีแดงปลายปี64 เล็งประมูลพื้นที่ภายในสถานี มิ.ย.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ครั้งที่ 2/2564 เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ – รังสิต ระยะทางประมาณ 26.3 กิโลเมตร รวมทั้งการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 จากนั้นจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2564

ดังนั้น เพื่อให้การเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อได้ทันตามกำหนด สามารถอำนวยความสะดวกประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมต่อการเดินทางกับการขนส่งประเภทต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ และมีอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเดินรถและการเชื่อมต่อระบบขนส่งต่าง ๆ ในการเข้าถึงสถานี ด้านสถานี ด้านราคาค่าโดยสารและบัตรโดยสาร ด้านการสื่อสารสาธารณะ ด้านการกำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารและสินค้า รวมถึงการบริหารพื้นที่ภายในสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่โดยรอบในเชิงพาณิชย์ โดยคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ได้เร่งรัดดำเนินการในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ดังนี้

การเตรียมความพร้อมด้านการเดินรถและการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง คณะอนุกรรมการฯ ด้านการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งระบบ รวมทั้งการเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง การเชื่อมต่อการให้บริการระบบขนส่ง ได้เสนอรูปแบบการเดินรถไฟเพื่อเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยให้คงขบวนรถเข้า สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 22 ขบวน ซึ่งการให้บริการรถไฟทั้ง 22 ขบวน จะจัดให้มีการเดินรถในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบการจราจรที่จะเกิดขึ้นพื้นที่กรุงเทพชั้นใน พร้อมทั้งจะมีการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง โดยให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณาปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางในกับรูปแบบการขนส่งรูปแบบอื่นในทุกสถานี รวมถึงการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางเพื่อเชื่อมต่อสถานีหลักด้วย ทั้งนี้ การปรับลดขบวนรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ขบ. และ ขสมก. ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มีความต้องการการเดินทางเข้าไปยังสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) แล้ว โดยการปรับให้มีรถโดยสารประจำทางเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อและสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สถานีมักกะสันและสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านสถานี คณะอนุกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ ด้านสถานี ได้มีการประชุมและกำหนดให้สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีจำนวน 52,375 ตารางเมตร ได้เสนอแนวทางให้ รฟท. ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนได้มีสิทธิใช้ประโยชน์พื้นที่แยกจากโครงการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนให้บริการเดินรถไฟสายสีแดง (PPP) ซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขสัญญาเดียวครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 52,375 ตารางเมตร โดยรวมถึงการให้บริการในส่วนของศูนย์อาหาร และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นในการเดินทาง อายุสัญญาเช่า 15 – 20 ปี พื้นที่ส่วนของลานจอดรถยนต์เห็นควรให้ รฟท. ดำเนินการหารายได้ในการจัดเก็บค่าจอดรถยนต์

โดย รฟท. หรือโดยการจ้างเหมาบริการ ให้ รฟท. พิจารณาให้บริการรถ Limousine แก่ผู้โดยสารในลักษณะเดียวกับสนามบินและบริการรถ Shuttle bus สำหรับงานด้านรักษาความปลอดภัยและการจัดการจราจร งานด้านทำความสะอาดสถานที่ และงานอาคารสถานที่ เห็นควรให้ รฟท. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

ส่วนสถานีรถไฟในโครงการอีก 12 สถานีจากการสำรวจพื้นที่โดยละเอียดพบว่ามีพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 4,626 ตารางเมตร และพื้นที่โฆษณา จำนวน 2,407 ตารางเมตร คณะอนุกรรมการฯ ด้านสถานีได้เสนอแนวทางการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์และป้ายโฆษณา โดยกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ลงนามสัญญาได้ในเดือนสิงหาคม 2564 และเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2564

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top