สธ.จับตาประเทศเพื่อนบ้านแพร่เชื้อต่างสายพันธุ์ ยันวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษ

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศขณะนี้แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนทรงตัวในระดับสูง แต่จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายเริ่มมีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งช่วยให้สถานการณ์เรื่องอัตราการครองเตียงคลี่คลายดีขึ้น โดยพบการแพร่ระบาดกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่าในจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ ทำให้มีการตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล เพื่อดำเนินการมาตรการป้องกันการปพร่ระบาดอย่างเข้มข้น

“คาดหวังที่จะเห็นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเป็นระฆังคว่ำ แต่ช่วงท้ายมีอัตราคงที่ การพบผู้ป่วยรายใหม่อาจจะยืดระยะเวลายาวออกไป ยังไม่เห็นแนวโน้มลดลงในช่วงนี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีสายพันธุ์แตกต่างกัน

สำหรับความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ขณะนี้ได้มีการจัดสรรไปแล้ว 2,396,926 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,601,833 ราย และเข็มสอง 434,114 ราย โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์สองโดสจะเป็นวัคซีนซิโนแวกที่มีระยะห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต้องมีระยะห่างจากเข็มแรก 10 สัปดาห์ โดยมีอัตราการฉีดวันละ 2-3 หมื่นราย เนื่องจากมีปริมาณวัคซีนจำนวนจำกัด ส่วนการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนล่าสุดมีจำนวน 1,432,895 ราย ผ่านหมอพร้อมจำนวน 1,176,079 ราย และผ่านโรงพยาบาล รพ.สต.และ อสม.จำนวน 256,816 ราย

ด้าน นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษ โดยอย่าไปยึดผลวิจัยเพียงอย่างเดียว เพราะวิจัยในประเทศเดียวกันไม่ได้ วิจัยในเวลาเดียวกันไม่ได้ วิจัยในเผ่าพันธุ์เดียวกันไม่ได้ วิจัยในช่วงที่มีการแพร่กระจายเชื้อที่อาจมีการกลายพันธุ์ไม่ได้ แต่ผลของวัคซีนในชีวิตจริงที่แพทย์อยากเห็นคือ ไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ให้ป่วยหนัก ไม่ให้แพร่เชื้อ และสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้

“ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษ หลักการของวัคซีนทุกตัวคือมีประสิทธิภาพที่ช่วยป้องกันการเสียชีวิตและนอนไอซียูได้ 100%” นพ.ทวี กล่าว

สำหรับผลวิจัยของวัคซีนซิโนแวกนั้นได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย พบว่า สามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันอาการป่วยไข้ถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลได้ 83.7% และป้องกันการติดเชื้อได้ 50.7% โดยในประเทศบราซิลพบว่าหลังฉีดไปสองสัปดาห์มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าก็มีประสิทธิภาพ 62-81.5% หลังฉีดเข็มสองแล้ว 15 วัน และสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี ยกเว้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยมีการทดลองเปรียเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์ในประเทศสก็อตแลนด์พบว่าประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยกว่ากัน

ส่วนปัญหาโรคลิ่มเลือดอุดตันนั้นจะพบ 1 รายต่อการฉีด 2.5 แสนโดส และมีอัตราการเสียชีวิต 1 ในล้านโดส โดยพบว่า 1 ใน 8 รายของผู้ป่วยโควิด-19 จะป่วยโรคลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากการสูบบุหรี่จัด ซึ่งคิดว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมากกว่าพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ กำลังทยอยยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานอาหารและยา (อย.) ซึ่งจะทำให้มีวัคซีนใช้หลากหลายมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top