ศบค.พบผู้ติดโควิดใหม่วันนี้ 2,101 ราย ในปท. 1,674-เชิงรุก 412-ตปท. 15-ตาย 17

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 83,375 คน (+2,101)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,674 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 412 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 15 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน = 0 ราย
  • รักษาหายแล้ว 53,605 คน (+2,186)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 29,371 คน (-102)
  • เสียชีวิตสะสม 399 คน (+17)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,101 ราย และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศระลอกใหม่อยู่ที่ 54,512 ราย ผู้หายป่วยสะสม จำนวน 26,179 ราย เพิ่มขึ้น 2,186 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,101 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,674 ราย
  • การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 412 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย โดยในจำนวนนี้ 5 ราย เป็นการลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ

สำหรับผู้เสียชีวิต 17 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย และเพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 34-99 ปี เป็นชาวกรุงเทพฯ 8 ราย, สมุทรปราการ 3 ราย นอกนั้นจังหวัดละ 1 ราย จากปทุมธานี, สมุทรสาคร, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, แพร่ และชัยนาท ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, ไขมันในเลือดสูง, โรคปอดเรื้อรัง, ไตเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อมาจากบุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยันก่อนหน้า และการไปในสถานที่แออัด

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 83,375 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 55,895 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 24,098 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,382 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 53,605 ราย เพิ่มขึ้น 2,186 ราย กำลังรับการรักษา 29,371 ราย อาการหนัก 1,442 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 394 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 399 ราย

โดยกรุงเทพฯ ยังเป็นจังหวัดที่มีการระบาดของโควิด-19 สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ณ วันที่ 9 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 980 ราย รวมยอดสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย.-9 พ.ค.64 อยู่ที่ 19,009 ราย อันดับสอง คือ นนทบุรี มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 221 ราย ยอดสะสม 3,470 ราย อันดับสาม สมุทรปราการ ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 108 ราย ยอดสะสม 3,124 ราย

สำหรับผลการคัดกรองเชิงรุกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, นครปฐม, ปทุมธานี) สะสมตั้งแต่ 1 เม.ย.- 8 พ.ค.64 มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้วรวม 220,406 ราย พบเชื้อโควิด 4,024 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 1.83% ซึ่งที่ประชุม ศบค.ได้ขอให้ยึดแนวทางปฏิบัติในการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนให้ได้มากที่สุด และนำคนที่ติดเชื้อแยกออกมาจากคนที่ไม่ป่วยให้ได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีการระบาดในวงกว้างมากขึ้น

โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค.ได้มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากผู้ป่วยปิดบังข้อมูล ไม่ได้แจ้งว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับเชื้อ และบางส่วนต้องกักตัว 14 วัน ทำให้โรงพยาบาลต้องขาดบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว

ทั้งนี้ มีข้อมูลตั้งแต่การระบาดรอบใหม่ (1 เม.ย.- 7 พ.ค.64) พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 512 ราย จากท้งหมด 57 จังหวัด สูงสุดอยู่ในกรุงเทพฯ 137 ราย รองลงมา ตรัง 47 ราย ชลบุรี 34 ราย และนครปฐม 25 ราย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัส/การรักษาผู้ป่วย ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ในภายใน รพ. รวมทั้งการสัมผัสกับเพื่อนร่วมงานที่ป่วย โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล 34% แพทย์ 10% ทันตแพทย์ 5%

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายนั้น ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้รายงานการจับกุมแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 – ปัจจุบัน สามารถจับกุมแรงงานผิดกฎหมายได้แล้ว 15,378 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจับกุมได้ในพื้นที่ติดชายแดน โดยเป็นแรงงานจากเมียนมา มากสุด 6,072 ราย รองลงมา เป็นแรงงานกัมพูชา 5,114 ราย ส่วนแรงงานไทย 1,691 ราย

“นายกรัฐมนตรี และเลขา สมช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะทางช่องทางธรรมชาติ พร้อมกับฝากประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของฝ่ายความมั่นคงให้ทำงานได้ง่ายขึ้น” โฆษก ศบค.กล่าว

ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ล่าสุดจนถึงวันที่ 8 พ.ค.64 จัดสรรวัคซีนทั้งหมด 2,427,452 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ.-8 พ.ค.64 รวม 1,743,720 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 1,273,666 ราย ในจำนวนนี้ เป็นวัคซีนซิโนแวก 1.16 ล้านราย วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.06 แสนราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว 470,054 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า พื้นที่ชุมชนในกรุงเทพฯ ยังมีความต้องการได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกอีกจำนวนมาก ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนเข้าไปตรวจเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนต่อเนื่องในระยะนี้ เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนบ้านญวน-สะพานขาว ชุมชนประตูน้ำ ชุมชนแฟลตดินแดง และชุมชนป้อมปราบฯ เป็นต้น

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 158,313,826 ราย เสียชีวิต 3,296,623 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,454,581 ราย อันดับสอง อินเดีย 22,295,911 ราย อันดับสาม บราซิล 15,150,628 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,767,959 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,016,141 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top