ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ เม.ย.ลดทุกภาค จากผลกระทบโควิดรอบ 3 รายได้ลด-กำลังซื้อหด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนเม.ย.64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 368 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย.64 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 27.6 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 30.7

โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 27.9 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ 31.3, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 28.2 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ 28.3, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 31.6 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ 34.9, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 27.1 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ 30.1, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 26.9 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ 30.0 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 24.7 ลดลงจากเดือนมี.ค.ที่ 27.9

ปัจจัยลบที่มีผลต่อดัชนีฯ คือ ความวิกตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้, ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรค และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การสั่งปิดกิจการในหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืน, มาตรการกักตัวของบางจังหวัด หากเดินทางเข้าจังหวัดนั้นๆ ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง, การชะลอการบริโภคและจับจ่ายใช้สอย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3, ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น หรือมีการลดเงินเดือน, กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือ 2.3% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.8%

ส่วนปัจจัยบวก เช่น ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ “เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 64 ขยายตัว 8.47% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐดังนี้

  1. เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร
  2. เร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และทำให้การดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลง
  3. เร่งหยุดการระบาดแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์ และกระจายตัวอยู่ในชุมชนแออัดตามพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
  4. มาตรการทางการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงาน และปรับรูปแบบธุรกิจให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
  5. เร่งแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้พร้อมดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ควบคุมได้ และประชาชนมีภูมิคุ้นกันต่อโรคในระดับที่ไม่เป็นอันตราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top