THCOM เตรียมซื้อซองประมูลไลเซ่นส์ใช้วงโคจรดาวเทียม,มองโอกาส M&A-JV ต่อเนื่อง

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้า (THCOM) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจเข้าซื้อซองประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในวันที่ 21 พ.ค.64 นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะเข้าประมูลใน Package ใดบ้าง เนื่องจากมีผลต่อการแข่งขัน และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ไม่ได้ระบุว่าแต่ละผู้แข่งขันจะเข้าประมูล Package ใดบ้าง

อนึ่ง กสทช. ได้มีการแบ่ง Package ออกเป็น 4 Package เพื่อนำออกมาประมูล ได้แก่

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท

ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ที่นะการประมูลจะต้องจ่ายค่าไลเซ่นส์รวม 4.25% ของรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับกสทช. โดยจะไม่มีค่าธรรมเนียมสัมปทาน 22.5% ที่ต้องจ่ายก่อนหน้านี้อีกแล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ชนะการประมูลทำให้ต้นทุนทางธุรกิจ (Cost Structure) ลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุน ระหว่างการประมูล 4 วงโคจรในประเทศไทย กับการไปร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อใช้วงโคจรของต่างประเทศในการนำมาให้บริการในไทย ว่าอย่างไหนคุ้มค่ากว่ากัน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศดังกล่าวด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

“ความชัดเจนดาวเทียมในไทยออกมาแล้ว และเรายังศึกษาพาร์ทเนอร์ชิพกับวงโคจรประเทศอื่น ซึ่งเรามี 2 เส้นทางที่ศึกษาอยู่ โดยรายละเอียดยังไม่สามารถตอบได้”

นายปฐมภพ กล่าว

สำหรับธุรกิจใหม่ๆ บริษัทอยู่ระหว่างมองหาโอกาสการซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมลงทุน (JV) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดาวเทียม เช่น การใช้ Satellite AI หรือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมต่างๆ ทั่วโลกในการสำรวจทรัพยากร และนำข้อมูลมาประมวล และเป็นประโยชน์ในหลายๆ หน่วยงานในไทย และภูมิภาคนี้ เนื่องด้วยมองว่าการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในอนาคตจะมีบทบาทสำคัญมาก, ธุรกิจ Drone and UAV การพัฒนาซอฟแวร์ควบคุมโดรนในไทย เพื่อช่วยในเรื่องของความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) โดยมองว่ามีความต้องการต่อเนื่องในอนาคต และหน่วยงานหลายหน่วยงานก็ได้ให้ความสำคัญดังกล่าว และธุรกิจ Digital Services Platforms เป็นต้น

บริษัทกระแสเงินสดราว 6,000 ล้านบาท และหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำ สามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินได้อีกมาก ซึ่งเพียงพอต่อการ M&A และ JV

นอกจากนี้บริษัท เนชั่น สเปซ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (NSAT) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง THCOM กับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ก็อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ขณะเดียวกันก็จะใช้ NSAT ขยายธุรกิจอินเตอร์เน็ตบนเรือสมุทรต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top