ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คงประมาณการ GDP ปี 64 ที่ 1.8% มองมาตรการเยียวยายังจำเป็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ที่ 1.8% แม้ว่าภาพรวมไตรมาส 1/64 หดตัว 2.6% YoY แต่ขยายตัว 0.2% QoQ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมิน

อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่ำกว่าคาด แม้ว่าจะมีการทยอยเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจอยู่ในกรอบ 0.25-1.20 ล้านคน

ประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าวได้รวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีจากอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังได้รวมปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการอยู่และคาดว่าจะออกมาเพิ่มเติมภายใต้งบกลางของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 และวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน อาทิ การขยายสิทธิโครงการเราชนะและโครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โครงการลดภาระค่าครองชีพแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเงินเฟ้อของไทยมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะ Stagflation กล่าวคือรายได้ลด แต่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มาตรการภาครัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้เงินเฟ้อไทยมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเม.ย. 2564 ของไทยอยู่ที่ 3.4% YoY ซึ่งถูกขับเคลื่อนจากดัชนีราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 36.4% YoY เป็นหลัก ทั้งนี้ ทิศทางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลให้ค่าครองชีพของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ครัวเรือนไทยไม่เติบโตสอดคล้องไปกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะ Stagflation

ดังนั้น ภาครัฐอาจมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐได้มีการกู้เงินเต็มวงเงินที่เหลือของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มและขยายเพดานหนี้สาธารณะสูงกว่า 60% ขณะที่นโยบายการเงินอาจมีความสามารถจำกัดในช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top