KTC คงเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรปีนี้โต 8% โควิดรอบ 3 กระทบน้อยแม้ชะลอใช้จ่ายแต่ดีกว่ารอบแรก

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเล็กน้อย และน้อยกว่ารอบแรกในปีก่อน จึงยังคงเป้ายอดขายใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 64 เติบโตราว 8% จากปีก่อน

ถึงแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่ในส่วนของลูกค้าของบริษัทนั้นได้สังเกตุเห็นการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายหันมาใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และอาจระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่เมื่อมองยอดการจับจ่ายใช้สอยในเดือน เม.ย. 64 ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่บริษัทยังต้องติดตามแนวโน้มของยอดการใช้จ่ายในช่วงเดือนพ.ค. 64 ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

“Spending ในช่วงเดือนเม.ย. ปีนี้ก็ยังถือว่าดีกว่าปีที่แล้ว แต่ก็มองว่าพ.ค.นี้ก็จะหนักกว่าเม.ย. ซึ่งเป็น Technical Lockdown มาต่อเนื่อง คนก็มีความกลัวการใช้สอยบ้าง แต่น้อยกว่าปีก่อน และปรับตัวหันมาใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้น ทำให้มองว่าตัวเลขปีนี้ก็ยังดีกว่าปีก่อน”

นายระเฑียร กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าภาพรวมของผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/64 จะยังทำได้ดีกว่าไตรมาส 2/63 จากการที่คนเริ่มตั้งตัวและรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับการที่บริษัทยังคงมีการร่วมกับพันธมิตรในการทำโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้จ่าย อีกทั้งบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการควบคุมคุณภาพหนี้ และไม่เร่งการขยายฐานลูกค้ามากนักเพื่อป้องกันความเสี่ยง

บริษัทยังคงเป้าหมายทางธุรกิจในปีนี้จะทำกำไรสูงกว่าปีก่อน ภายใต้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 8% และจำนวนสมาชิกใกล้เคียงกับปีก่อน ได้แก่ บัตรเครดิต 235,000 ใบ และสมาชิกบัตรกดเงินสดเคทีซี พราว 135,000 ราย โดยคาดว่าหลังจากไตรมาส 3/64 เป็นต้นไปจะเห็นความชัดเจนของสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งคาดหวังว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 จะคลี่คลายลง และเริ่มมีการท่องเที่ยวกลับเข้ามา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรให้กลับมาดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4/64

ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยจะพยายาบรักษาระดับ NPL ในไตรมาส 2/64 ให้ใกล้เคียงไตรมาส 1/64 ที่ 1.9% และจะควบคุมให้ทั้งปีไม่เกิน 2% จากการที่ยังไม่เร่งการขยายฐานลูกค้าทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ ประกอบกับการที่บริษัทมีคลินิกแก้หนี้เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกค้า ทำให้ลูกค้ายังสามารถกลับมาชำระหนี้ได้และไม่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ส่งผลให้ระดับ NPL ของบริษัทยังรักษาได้ในระดับที่ดี และยังไม่มีแผนการขาย NPL ออกไป จะเป็นการบริหาร NPL เป็นหลัก

สำหรับความคืบหน้าการควบรวมบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด เข้ามานั้นถือว่าล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย จากเดิมต้องโอนหุ้นจากธนาคารกรุงไทย (KTB) เข้ามาในช่วงเดือนเม.ย.แต่คาดว่าจะสามารถโอนหุ้นเข้ามาให้กับ KTC ภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า โดยเตรียมความพร้อมในการทำงานของกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งไว้แล้ว แต่การที่ KTC จะบันทึกงบของกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งเข้ามานั้นจะส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ลดลงไปในไตรมาส 2/64 เหลือราว 300% จากเดิม 440-450% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี และสามารถบริหารจัดการได้

กลยุทธ์ต่อไปของ KTC จะเน้นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันมากขึ้น จากเดิมที่บริษัททำธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันเป็นหลัก เนื่องจากบริษัทมองเห็นโอกาสที่จะนำมาต่อยอดการเติบโตของธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และความต้องการเงินทุนในตลาดที่มีอยู่มาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามา ทำให้ความต้องการเงินทุนของคนในตลาดมีสูง ซึ่งเป็นผลบวกต่อธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันที่บริษัทจะมุ่งไป ทั้ง KTC พี่เบิ้ม และธุรกิจของกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง

นายระเฑียร กล่าวถึงโอกาสการเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในประเทศไทยว่า ขณะนี้มีธนาคารหลายแห่งสนใจเข้าไปศึกษาโอกาสดังกล่าวเพื่อสร้างการต่อยอดการเติบโตใหม่ๆ หากมองในมุมมองของธุรกิจระหว่าง KTC และซิตี้ ประเทศไทย ถือว่ามีธุรกิจที่ค่อนข้างทับซ้อนกันอยู่บ้าง จึงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ปิดโอกาสในการศึกษาหากเห็นศักยภาพที่มีความน่าสนใจ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top