ส่งออก เม.ย.โตต่อเนื่อง 13.09% นำเข้าโต 29.79% เกินดุลฯ 182.48 ล้านเหรียญฯ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกเดือน เม.ย.64 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.09% เมื่อเทียบเดือน เม.ย.63 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การระดมฉีดวัคซีนทั่วโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคการผลิตและการบริโภค

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 25.70%เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,246.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.79% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.85% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 698.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.64 ที่ขยายตัวได้ 13.09% นั้น ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือ 3 ปี นับตั้งแต่เม.ย.61 แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยเดือนเม.ย.64 จะขยายตัวสูงถึง 25.70% ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกไทย เป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการส่งออกโลก

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่

  1. สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
  2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวเกือบทุกรายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
  3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
  4. กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย
  5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูงเช่นกัน สะท้อนถึงการขยายตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี

ส่วนการส่งออกสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ข้าว เนื่องจากไทยประสบปัญหาผลิตภาพต่ำ และต้นทุนสูง ส่งผลให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ โดยราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีราคาข้าวขาวและข้าวนึ่งต่ำสุดในตลาด, น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณอ้อยของไทยลดลงต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งรุนแรง และราคาตกต่ำ รวมทั้งราคาน้ำตาลทรายมีทิศทางลดลง, อาหารทะเล แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศที่ดีขึ้น จึงทำให้มีการกักตุนสินค้าน้อยลง นอกจากนี้ สินค้าประเภทเครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์รักษาผิว, แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า, เครื่องส่งวิทยุโทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ ได้กลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากขยายตัวต่อเนื่องกันมาหลายเดือน

ด้านตลาดส่งออกนั้น พบว่าการส่งออกไปตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยการส่งออกไปตลาดหลัก (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป) ขยายตัวได้ 15.8% ตลาดศักยภาพสูง (อาเซียน จีน เอเชียใต้) ขยายตัว 18.8% และตลาดศักยภาพระดับรอง (ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง กลุ่ม CIS) ขยายตัว 47.8%

ขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยในเดือนเม.ย. 64 พบว่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 29.79% คิดเป็นมูลค่า 21,246 ล้านดอลลาร์ จากผลของการนำเข้าสินค้าสำคัญใน 5 กลุ่มแรก คือ สินค้าเชื้อเพลิง ขยายตัว 45.11% โดยเฉพาะน้ำมันดิบ สินค้าทุน ขยายตัว 18.61% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัว 29.09% สินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 40.83% และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ขยายตัว 27.48% โดยแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, สหรัฐ และเกาหลีใต้

นายภูสิต กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะต่อไปว่า คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจาก 1) การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า 2) การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น 3) แผนการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค

โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย คือ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก (Global Manufacturing PMI) ในเดือนเม.ย.64 ที่ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งภาคการผลิตของหลายประเทศที่ขยายตัว ส่งผลดีต่อภาคการค้าด้วย 2. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างประเทศ เริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และอังกฤษ หลังจากประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ ภาคการผลิต และภาคแรงงาน ที่มีแนวโน้มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติเร็วขึ้น และ 3. ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มีนโยบายสำคัญ อาทิ การจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การเจรจาซื้อขายด้วยระบบออนไลน์โดยส่งสินค้าตัวอย่างไปยังปลายทาง การทำกิจกรรมกับร้านค้าปลีกในต่างประเทศ เช่น ห้างวอลมาร์ทในสหรัฐฯ หรือการจับคู่ธุรกิจเพื่อขายสินค้าฮาลาล เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาการส่งสินค้าผลไม้ผ่านชายแดนเวียดนามไปยังจีน โดยประสานทางการจีนเพื่อเปิดช่องทางส่งออกผลไม้ให้ไทยเพิ่มขึ้นที่ด่านโหย่วอี้กวน และเปิดด่านตงซิงเพิ่มอีก 1 ด่าน เพื่อให้สามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนได้ พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าผลไม้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top