BBL ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นลบ. ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจทุกกลุ่ม

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 เจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงเทพได้เร่งออกไปพบลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อให้คำแนะนำและสร้างความเข้าใจในมาตรการดังกล่าว โดยมุ่งหวังให้ลูกค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และรวดเร็วทันสถานการณ์ ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าในการปล่อยสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาทจากมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้อย่างเต็มที่ ทั้งบุคลากรและระบบงานต่างๆ เช่นเดียวกับที่ได้สนับสนุนในทุกมาตรการความช่วยเหลือตามนโยบายของภาครัฐก่อนหน้านี้

“ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจนับหมื่นราย ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถประคองกิจการผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อเนื่องถึงคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง โดยการช่วยเหลือมีทั้งการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และการให้สินเชื่อเพิ่มเติม โดยใช้ซอฟท์โลนจากมาตรการของ ธปท. และกระทรวงการคลัง รวมทั้งสินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพบางส่วน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ รวมถึงพยุงการจ้างงาน เมื่อภาครัฐมีมาตรการนี้ออกมาเพิ่มเติม เราก็พร้อมทำงานต่อเพื่อสนับสนุนอย่างเต็มที่”

นายชาติศิริ กล่าว

ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

ช่วงแรก ดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและพนักงานของตนเองได้

ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาบริการและผลิตสินค้าให้ได้ครบตามคำสั่งซื้อ ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในเรื่อง Working Capital

ช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน

สำหรับมาตรการล่าสุดที่ ธปท. และกระทรวงการคลัง ได้ออกมา ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อประคับประคองให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มีสภาพคล่องสำหรับดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง สำหรับทั้งลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 ก.พ. 64 ซึ่งสามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมกับวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก.) และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน ในช่วง 5 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี โดยช่วง 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี ทั้งยังได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง

ขณะเดียวกันธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ นการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบธุรกิจให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากในเวลานี้ อีกทั้ง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อทุกราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้บางส่วน

ด้านมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ด้วยการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้กับธนาคาร ตามราคาที่ตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกัน และให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืน ภายใน 3-5 ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top