ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องจีนให้ความร่วมมือสืบต้นตอโควิด หวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดอีก

ผู้เชี่ยวชาญ 2 รายจากสหรัฐ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาแสดงความร่วมมือในการสืบต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นตอของโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดอีกในอนาคต

นายสก็อต กอทลีบ กรรมาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริษัทไฟเซอร์ เปิดเผยว่า ทฤษฎีที่ว่าไวรัสดังกล่าวน่าจะหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่นของจีนนั้น เริ่มหนักแน่นมากขึ้น และจีนก็ไม่ได้ให้หลักฐานหักล้างทฤษฎีดังกล่าว

ขณะเดียวกัน แนวคิดที่ว่าไวรัสดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อจากค้างคาวสู่มนุษย์ผ่านทางสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นพาหะของโรค ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และจีนนั้น ก็ยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมจนได้ผลลัพธ์ชัดเจน

ด้านนายปีเตอร์ โฮเทส จากศูนย์พัฒนาวัคซีน โรงพยาบาลเด็กเท็กซัส เปิดเผยว่า การสืบหาต้นตอการแพร่ระบาดเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อไม่ให้โลกต้องเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดอีกในอนาคต โดยหากโลกไม่เข้าใจต้นตอของโรคโควิด-19 อย่างแท้จริงแล้ว ก็อาจจะเกิดโรคโควิด-26 หรือโควิด-32 อีก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการทบทวนเกี่ยวกับต้นตอของการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยระบุว่าหน่วยข่าวกรองของสหรัฐยังไม่ล้มสมมติฐานที่ว่า ไวรัสดังกล่าวน่าจะหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่นของจีน

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า สถาบันไวรัสวิทยาแห่งเมืองอู่ฮั่นอาจเป็นต้นตอของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 โดยอ้างว่านักวิจัยบางรายในสถาบันแห่งนี้มีอาการที่คล้ายกับอาการของโรคโควิด-19 เมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2562

เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) และจีนได้ร่วมกันเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับต้นตอของไวรัสโควิด-19 โดยได้ข้อสรุปว่า ไวรัสดังกล่าวไม่น่าจะหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่นอย่างที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยไว้

รายงานดังกล่าวระบุว่า ไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อจากค้างคาวสู่มนุษย์ผ่านทางสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นพาหะของโรค

อย่างไรก็ดี สหรัฐพร้อมกับอีก 13 ชาติแสดงความกังวลต่อการที่ WHO มีความล่าช้าในการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับต้นตอของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งมีการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่สมบูรณ์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top