ครม.เห็นชอบร่างปฎิญญาฯ ของ UN หวังยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 73

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างปฏิญญาทางการเมืองเรื่องเอชไอวีและเอดส์ พ.ศ.2564 ในการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องเอชไอวีและเอดส์ พ.ศ.2564 และเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนไทยร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว

สำหรับร่างประกาศปฏิญญาทางการเมืองเรื่องเอชไอวีและเอดส์ พ.ศ.2564 มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมติดตามการดำเนินการยุติปัญหาเอดส์ในฐานะภัยคุกคามด้านสาธารณสุขภายในปี 2573 และความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยืนยันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 ตามเป้าหมาย SDG 3.3 เพื่อยุติเอดส์ และตระหนักว่าการยุติเอดส์ได้จำเป็นต้องยุติความไม่เท่าเทียมกัน และขับเคลื่อนการดำเนินการในหลายภาคส่วนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินการเพื่อยุติปัญหาเอดส์และพันธกรณีที่จะให้ประเทศต่างๆ ร่วมแสดงความมุ่งมั่น ดังนี้

  1. ให้ความสำคัญกับการป้องกันเชื้อเอชไอวี และสร้างความมั่นใจว่าร้อยละ 95 ของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จะเข้าถึงและมีทางเลือกการป้องกันเชื้อเอชไอวีแบบผสมผสานที่เหมาะสม ยึดคนเป็นศูนย์กลางและมีประสิทธิผลภายในปี 2568
  2. บรรลุเป้าหมาย 95-95-95 ในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี การรักษา และการกดปริมาณไวรัส เพื่อให้แน่ใจว่าภายในปี 2568 จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกอย่างน้อย 32 ล้านคนเข้าถึงการรักษา
  3. ขจัดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกและยุติโรคเอดส์ในเด็กภายในปี 2568
  4. ให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศและสิทธิมนุษยชนของสตรีและเด็กหญิงกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินงานการลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อการติดเชื้อเอชไอวี
  5. ใช้หลักการการมีส่วนร่วมของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ และเสริมสร้างพลังอำนาจให้ชุมชน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวีซึ่งรวมถึงสตรี วัยรุ่น และเยาวชน และกลุ่มประชากรหลัก มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำการดำเนินงานด้านเอชไอวี
  6. ขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติจากเอชไอวี และให้ความเคารพ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยง และผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการลงทุนด้านทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมและการพัฒนาแนวทางและการอบรมให้แก่ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
  7. เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโลกและเพิ่มการลงทุนประจำปีด้านเอชไอวีในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ
  8. เร่งรัดการบูรณาการบริการเอชไอวีเข้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพิ่มความเข้มแข็งและยืดหยุ่นให้กับระบบสุขภาพและการปกป้องทางสังคม การสร้างระบบให้กลับคืนมา ให้มีความเท่าเทียมและครอบคลุมมากขึ้นในภาวะวิกฤตทางมนุษยธรรมและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของโลก รวมทั้งการเตรียมความพร้อมต่อการระบาดทั่วโลกในอนาคต
  9. เสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการใช้ข้อมูล นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาและวิทยาการเพื่อเร่งรัดการยุติเอดส์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top