ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,631 ราย ในปท.1,306-ตรวจเชิงรุก1,274-ตปท.51,ตาย 31

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 171,979 คน (+2,631)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,306 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 1,085 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 189 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 51 ราย
  • รักษาหายแล้ว 120,697 คน (+2,493)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 50,105 คน (+328)
  • เสียชีวิตสะสม 1,177 คน (+31)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,631 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,306 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,085 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 189 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 51 ราย โดยยังคงพบผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย จากเมียนมา 1 ราย โดยเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติผ่านทางเรือ จากกัมพูชา ซึ่งมาทางช่องทางธรรมชาติ 11 ราย จากทั้งหมด 37 ราย นอกนั้นมาจากมาเลเซีย 6 ราย จากอียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 2 ราย และจากโกตดิวัวร์ อิเควทอเรียลกินี ซูดาน ประเทศละ 1 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย เป็นชาย 16 ราย หญิง 15 ราย อายุเฉลี่ย 17-97 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเพียง 5 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร 20 ราย สมุทรปราการ 4 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และกำแพงเพชร จันทรบุรี นครปฐม ร้อยเอ็ด อุทัยธานี จังหวัดละ 1 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 171,979 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 120,697 ราย เพิ่มขึ้น 2,493 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,177 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ผู้ลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายที่มาจากกัมพูชา ซึ่งมาทางช่องทางธรรมชาติ 11 ราย จากการสอบสวนโรค พบว่าเป็นนักพนันหรือแอดมินออนไลน์ และที่ประชุม ศบค.ได้เน้นย้ำไปในพื้นที่ และกระทรวงแรงงาน ให้มีการสอบสวนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปในกัมพูชาโดยผิดกฏหมายหรือไม่ มีจำนวนเท่าไร มีนายจ้างดูแลหรือเข้าไปทำงานในคาสิโนใดๆ หรือไม่ เพราะมีรายงานตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางพื้นที่จะได้ทำแผนรองรับคนเหล่านี้ เพราะหากผ่านเข้ามาผิดกฏหมายแล้วอาจมีเชื้อกลายพันธุ์ และจะทำให้ทุกคนไม่ปลอดภัย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึง 10 จังหวัดอันดับแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดระลอกใหม่นี้ ณ วันที่ 4 มิ.ย.64 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 824 ราย ปทุมธานี 460 ราย สมุทรปราการ 202 ราย เพชรบุรี 198 ราย นนทบุรี 153 ราย ชลบุรี 101 ราย สมุทรสาคร 73 ราย สงขลา 41 ราย นครปฐม 36 ราย และตรัง 34 ราย

ซึ่งจากการรายงานผู้ติดเชื้อใน จ.ปทุมธานี พบในบริษัทชำแหละไก่ที่ลำลูกกา ซึ่งจากการตรวจเชิงรุกในสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,626 ราย พบผู้ติดเชื้อ 729 ราย และในคลัสเตอร์ตลาดสี่มุมเมือง ทั้งชาวเมียนมาและลาว (ตั้งแต่ 7 พ.ค.-2 มิ.ย.) ตรวจไปแล้ว 22,412 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,569 ราย ซึ่งทางจังหวัดปทุมธานีจะยังลงตรวจในชุมชน แคมป์คนงาน ตลาด เคหะชุมชน และบางกระดีด้วย

จ.สมุทรปราการ ยังพบผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเข้าไปในจังหวัด และยังต้องเฝ้าระวังในโรงงานอุตสาหกรรมฟอกหนัง มีการตรวจเชิงรุก 415 ราย พบผู้ติดเชื้อ 27 ราย และจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออก มีการตรวจเชิงรุก 186 ราย พบผู้ติดเชื้อ 5 ราย ซึ่งโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออก มีความเกี่ยวพันกับโรงงานปลากระป๋องที่บางปู

ซึ่งกรมควบคุมโรคมีความเป็นห่วงในโรงงาน จากการสอบสวนโรค พบว่า มีสภาพแวดล้อมค่อนข้างแออัด คนงานในสถานประกอบการใช้ชีวิตลักษณะรวมกลุ่ม รับประทานอาหารร่วมกัน ใช้แก้วน้ำเดียวกัน คล้ายกับแคมป์คนงานก่อสร้าง มีการพบเชื้อที่ตู้กดน้ำรวม สังสรรค์กันเองภายในโรงงาน และมีการสูบบุหรี่มวนเดียวกัน รวมถึงการใช้ห้องน้ำร่วมกัน

โดยที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก มีการย้ำเตือนมาตรการและมีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดเฝ้าระวังในสถานประกอบการ ให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการที่บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสาธารณสุขจังหวัด เพื่อลงสุ่มตรวจ ถ้าตรวจพบเชื้อให้แยกกักให้เหมาะสม โดยให้โรงงานนั้นๆ ยังสามารถประกอบกิจการได้

พญ.อภิสมัย ชี้แจงถึงกรณีที่ประชาชนเกิดความกังวลกรณีมีการประกาศยกเลิกการฉีดวัคซีนในหลายพื้นที่ เช่น ในกทม. หัวหิน ลำปาง ในวันที่ 7 มิ.ย.ว่า กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าประชาชนที่ได้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม ในกลุ่มผู้สูงอายุ และ7 กลุ่มโรคประจำตัว จะได้การฉีดวัคซีนตามกำหนดแน่นอน และในวันนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนท์กับทุกจังหวัด ในเวลา 15.00 น. เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการกระจายวัคซีน โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำว่า มีวัคซีนเพียงพอ 5-6 ล้านโดสตามแผนที่วางไว้ และจะมีการกระจายอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง เป็นไปตามอัตราส่วนประชากรต่อวัคซีน และขอให้ความมั่นใจการกระจายวัคซีนที่จะมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

และในส่วนกทม. กรมควบคุมโรคระบุว่ามี 21 หน่วยฉีดวัคซีนของกทม.ที่ได้รับวัคซีนตรงจากกรมควบคุมโรค ส่วนมหาวิทยาลัยได้รับผ่านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และขอให้มั่นใจว่า กรมควบคุมโรคมีการจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามแผนทั่วประเทศ

ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ล่าสุดจนถึงวันที่ 4 มิ.ย.64 จัดสรรวัคซีนทั้งหมด 3,961,589 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 2,727,759 ราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว 1,233,830 ราย

ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 172,893,624 ราย เสียชีวิต 3,716,615 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,174,752 ราย อันดับสอง อินเดีย 28,572,359 ราย อันดับสาม บราซิล 16,803,472 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,694,076 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,270,299 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top