Media Talk: 4 กลยุทธ์ยกระดับการนำเสนอข่าวปี 2564 ให้โดนใจนักข่าว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 นั้น ส่งผลกระทบต่อวงการข่าวอย่างหนัก นักข่าวที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับวงจรและความเคลื่อนไหวของข่าวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ตั้งแต่เรื่องราวของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ไปจนถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ยังสงบ ยิ่งไปกว่านั้น นักข่าวยังต้องผลิตข่าวภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลพวงจากสถานการณ์การลดจำนวนพนักงาน ปัญหารายได้ที่ลดลง นักข่าวยังต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

บริษัท Cision ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ PR Newswire ได้เผยแพร่รายงาน State of the Media Report (APAC Edition) ที่ให้ข้อมูลภาพรวมสื่อจากมุมมองของนักข่าว โดยสำรวจความคิดเห็นนักข่าวจำนวนกว่า 2,800 คน จาก 19 ตลาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเจาะลึกถึงแนวทางการทำงานของนักข่าว ตั้งแต่กลยุทธ์ในการคัดเลือกข่าว สำรวจความสนใจในการเลือกประเด็นข่าว รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่นักข่าวต้องเผชิญ

รายงานฉบับเอเชียแปซิฟิก (APAC Edition) ให้ข้อมูลลงลึกถึงการทำงานของนักข่าวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม

บทความที่ทาง Media Talk นำเสนอ ได้คัดเลือกกลยุทธ์ที่สำคัญ ๆ จากรายงานฉบับเต็มของ State of the Media Report (APAC Edition) ฉบับปี 2564 ให้เหล่าพีอาร์หยิบไปใช้วางแผน เพื่อดึงความสนใจจากนักข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. ทำความเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่นักข่าวต้องเผชิญ

“จากมาตรการล็อกดาวน์และการทำงานจากที่บ้าน ทำให้นักข่าวไม่ได้ติดต่อกับผู้คนมากนัก ข่าวจำนวนมากที่เผยแพร่ในช่วงนี้มาจากแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะไม่ได้ผ่านการคัดกรองอย่างละเอียดหรือไม่ได้มีการสอดแทรกความคิดเห็นจากบุคคลอื่น” อ้างอิงจากความคิดเห็นของนักข่าวในรายงาน State of the Media Report (APAC Edition)

ผลการสำรวจชี้ว่า นักข่าวในสัดส่วน 38% รู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับไวรัสกลายพันธุ์ การยกเลิกแผนการจับคู่ประเทศเพื่อเปิดให้บริการธุรกิจท่องเที่ยว รวมไปถึงข่าวปัญหาความทุกข์ใจของผู้คนที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันกระแสข่าวโควิด-19 ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะสงบลง แม้ว่า การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นมานานกว่า 1 ปีแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ นักข่าวจำนวน 3 ใน 10 ติดต่อแหล่งข่าวลำบากมากขึ้น เนื่องจากองค์กรหลายแห่งเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้าน สิ่งที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์จะทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้คือ การสร้างความมั่นใจอยู่เสมอว่า นักข่าวจะสามารถติดต่อกับพีอาร์หรือลูกค้าของพีอาร์ผ่านทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลได้อย่างสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการติดต่อขอสัมภาษณ์ลูกค้า

นอกจากนี้ พีอาร์จะต้องดูแลและจัดการให้บริษัทลูกค้าของตนให้สัมภาษณ์ผ่านทางวิดิโอคอลได้อย่างราบรื่น ขณะที่การนัดพบแบบตัวต่อตัวในยุคนี้กลายเป็นเรื่องที่ลำบาก ดังนั้น วิธีการรองลงมาที่ดีที่สุด คือการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอล ซึ่งเป็นวิธีที่อำนวยความสะดวกให้กับนักข่าวที่สามารถถามคำถามเพิ่มเติมหรือคลายข้อสงสัยใด ๆ จากผู้ให้สัมภาษณ์ได้ง่ายกว่าการสัมภาษณ์ผ่านทางอีเมล

2. คาดการณ์ล่วงหน้าถึงข่าวและประเด็นที่นักข่าวต้องการ

หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความผันผวนและความแตกแยกถึง 1 ปี ประชาชนและนักข่าวล้วนโหยหาข่าวดี ๆ หรือข่าวที่เป็นบวก

นักข่าวผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเกือบครึ่ง พยายามมองหา “มุมใหม่ๆ” ในข่าวโควิด-19 ที่ตนเองเลือกนำเสนอ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบลง ก็มีข่าวหลากหลายประเด็นให้กล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่องค์กรและสังคมต่างช่วยเหลือกันและกัน หรือเรื่องราวของอิทธิพลจากเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อธุรกิจและผู้บริโภคในยุค New Normal

เมื่อทราบประเภทของเนื้อหาข่าวที่นักข่าวให้ความสนใจ และสอดคล้องกับช่องทางการนำเสนอของสื่อไม่ว่าจะเป็นนหมวดหมู่หรือคอลัมน์แล้ว เราสามารถจัดเตรียมรายชื่อ เรื่องราว หรือเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะเข้าเกณฑ์การเลือกหรือหยิบข่าวไปใช้โดยสื่อที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา หรือส่งประเด็นตรงไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเด็นนั้น ๆ ที่พร้อมจะให้สัมภาษณ์กับนักข่าว

3. ส่งข่าวให้ถูกจังหวะ วันศุกร์หรือเสาร์อาทิตย์ก็เป็นช่วงเวลาที่สามารถส่งข่าวได้เช่นกัน

การส่งข่าวในช่วงวันจันทร์และอังคารมีโอกาสสูงที่นักข่าวจะหยิบไปเผยแพร่ต่อ เหตุเพราะนักข่าวส่วนมากมักจะประชุมเพื่อคัดเลือกข่าวและประเด็นต่าง ๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ และนักข่าวเองก็จะงานล้นมือมากขึ้นภายหลังการประชุม อย่างไรก็ตาม อย่าได้มองข้ามโอกาสของวันศุกร์หรือวันเสาร์อาทิตย์

นักข่าวที่เลือกหยิบใช้ข่าวที่ส่งมาให้ตนเองในช่วงวันศุกร์และเสาร์อาทิตย์นั้น มีจำนวนที่น่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญในสัดส่วนถึง 28% สำหรับข่าวที่ส่งมาในช่วงวันศุกร์ และ 14.3% สำหรับข่าวที่ส่งมาในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ อาจจะเป็นเพราะนักข่าวบางส่วนเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาสุดสัปดาห์ในการทยอยอ่านข้อความในอีเมลหรือค้นหาเรื่องราวที่จะนำเสนอในการประชุมสัปดาห์หน้า หรืออาจเป็นเพราะอีเมลเหล่านั้น กองกันอยู่ด้านบนของอินบ็อกซ์ในช่วงเช้าวันจันทร์ก็เป็นได้

4. จัดเตรียมและส่งข่าวที่นักข่าวสามารถหยิบไปใช้ในงานเขียนได้

ลืมบทสัมภาษณ์ทางอีเมลที่อัดแน่นไปด้วยประเด็นที่ต้องการจะขายหรือรายละเอียดความสำเร็จขององค์กรที่ยาวเหยียดไปได้เลย นักข่าวที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา จะพยายามหารายละเอียดที่สามารถนำมาใช้เขียนข่าวได้โดยไม่ต้องใช้เวลามากเกินไป นักข่าว 78% จากผลสำรวจ ต้องการข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้

รายงานการวิจัยเวอร์ชั่นต้นฉบับ เป็นข้อมูลนักข่าวยินดีที่จะรับในสัดส่วนสูงถึง 67% ขณะที่แนวโน้ม การวิเคราะห์ตลาด หรือข้อมูลทางอุตสาหกรรมก็เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาเพิ่มน้ำหนักและช่วยเพิ่มความเป็นเหตุเป็นผลให้กับเนื้อข่าวได้ นอกจากนี้ ประเด็นอื่น ๆ ที่นักข่าวต้องการ ยังประกอบไปด้วย คำเชิญเข้าร่วมอีเวนต์ออนไลน์ (โดยเฉพาะประเด็นข่าวที่ผู้เข้าร่วมอีเวนต์สามารถแสดงความเห็นร่วมด้วยได้) หรือแนวคิดตั้งต้นใด ๆ ที่สามารถนำมาเขียนเรื่องราวต่อไปได้ เนื้อหาเหล่านี้ จะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีที่จะช่วยให้นักข่าวนำไปต่อยอดความคิด เพื่อเป็นไอเดียสำหรับข่าวชิ้นต่อ ๆ ไป

ที่มา : พีอาร์นิวส์ไวร์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top