ดาวโจนส์ปิดลบ 152.68 จุดหลังหุ้นแบงก์ร่วง ตลาดจับตา CPI สหรัฐ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (9 มิ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมกลางเดือนนี้

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,447.14 จุด ลดลง 152.68 จุด หรือ -0.44%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,219.55 จุด ลดลง 7.71 จุด หรือ -0.18%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,911.75 จุด ลดลง 13.16 จุด หรือ -0.09%

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปรับตัวลง นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลง 1.06% และ 1.03% ตามลำดับ โดยหุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 1.31% หุ้นเจพีมอร์แกน ดิ่งลง 1.25% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ลดลง 0.5% หุ้นโบอิ้ง ร่วงลง 1.86% หุ้นแคทเธอร์พิลลาร์ ดิ่งลง 2.29% หุ้น 3M ลดลง 0.43%

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1.50% เมื่อคืนนี้ และต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ย 100 วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.2563

อย่างไรก็ดี การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย โดยหุ้นแอปเปิล บวก 0.31% หุ้นไมโครซอฟท์ เพิ่มขึ้น 0.4% หุ้นแอมะซอน ดีดขึ้น 0.52% หุ้นอัลฟาเบท บวก 0.4%

ดัชนีหุ้นกลุ่มธุรกิจสุขภาพพุ่งขึ้น 1% หลังจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแผนที่จะบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับ 100 ประเทศทั่วโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยหุ้นไฟเซอร์ พุ่งขึ้น 2.47% หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ดีดตัวขึ้น 1.35% หุ้นโมเดอร์นา พุ่งขึ้น 2.08% หุ้นอิไล อิลลี่ (Eli Lilly) พุ่งขึ้น 2.4%

หุ้นเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 2.27% หลังจากบริษัทเมอร์คประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐมีแผนที่จะซื้อยา Molnupiravir ของเมอร์คจำนวน 1.7 ล้านชุดสำหรับใช้ในการทดลองรักษาโรคโควิด-19 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านดอลลาร์ หากยาดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐ

นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐซึ่งจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ในวันนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองลดลง 3.1% ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่พุ่งขึ้น และสต็อกบ้านที่ตึงตัว แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวลง

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนมี.ค.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดิอนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top