ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค.ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์กังวลโควิดระลอกใหม่

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 44.7 จากเดือน เม.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ 46.0 โดยดัชนีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.9 จาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 41.3 จาก 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9 จาก 54.7

ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่แน่อน, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 1/64 ติดลบ 2.6% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือโต 1.5-2.5%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ, กังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่สอคล้องค่าครองชีพ, เงินบาทแข็งค่า

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ, การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%, การส่งออกเดือนเม.ย. ขยายตัว 13%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.64 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนต.ค.41 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศรอบที่ 3

ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม

“ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เห็นสัญญาณการซื้อสินค้า การท่องเที่ยวที่มีการชะงัก การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ซึ่งการระบาดของโควิดส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค การล็อกดาวน์บางธุรกิจ มีผลต่อภาพรวมการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”

นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมคาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. หลังจากที่เริ่มมีปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนต้านโควิดกันทั่วประเทศในเดือนนี้ แม้ปริมาณวัคซีนอาจจะมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีนก็ดำเนินการเป็นวงกว้าง และมีแผนการฉีดวัคซีนที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่กำลังจะมีวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาในประเทศมากขึ้น เพิ่มเติมจากวัคซีนยี่ห้อหลักที่ใช้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะกลาง คือ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ซึ่งผู้บริโภคมีความกังวลว่าสถานการณ์จะไม่นิ่ง การอภิปรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้

“สถานการณ์ตอนนี้ คนมีความกังวลเงินในกระเป๋า และได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด แต่หากการเมืองยังมีเสถียรภาพ ก็คาดว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะเริ่มดีขึ้นได้หลังจากนี้”

นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมระบุว่า หากการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศทำได้มากขึ้นในเดือนมิ.ย., ก.ค.นี้ ประกอบกับรัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 นี้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงการดำเนินการตามแผน Phuket Sandbox, และการส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 2% เป็นอย่างน้อย

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย คาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 7% และหากสามารถรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ราว 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกที่จะเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ไวขึ้น เพราะมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น 6-8 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์ ยังมองว่า การแพร่ระบาดของโควิดในคลัสเตอร์โรงงานต่างๆ ในประเทศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกในปีนี้ เพราะการแพร่ระบาดในโรงงานยังมีส่วนน้อย ซึ่งแต่ละโรงงานมีมาตรการดูแลที่เข้มข้น แต่ปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก น่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อไปถึงปลายไตรมาส 3 หรือต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 รวมถึงปัญหาการปรับขึ้นค่าระวางเรือ แต่อย่างไรก็ดี มองว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top