ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,310 ราย ในปท. 1,467-ตรวจเชิงรุก 805-ตปท. 38,ตาย 43

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 187,538 คน (+2,310)
    • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,467 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 703 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 102 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 38 ราย
  • รักษาหายแล้ว 139,287 คน (+3,035)
  • รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 46,876 คน (-768)
  • เสียชีวิตสะสม 1,375 คน (+43)

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,310 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,467 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 703 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 102 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 38 ราย โดยมาจากกัมพูชา 37 ราย และสหราชอาณาจักร 1 ราย ซึ่งวันนี้ไม่พบการลักลอบเข้าเมืองทางช่องทางธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ 169 ราย
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 43 ราย เป็นชาย 31 ราย หญิง 12 ราย อายุระหว่าง 25-91 ปี โดยมาจาก กทม. 27 ราย สมุทรปราการ 5 ราย นครปฐม 4 ราย นครสวรรค์ 2 ราย นนทบุรี ปทุมธานี สงขลา กาญจนบุรี และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 187,538 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 139,287 ราย เพิ่มขึ้น 3,035 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,375 ราย

โดยจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 788 ราย (70 คลัสเตอร์) ปทุมธานี 308 ราย (คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ 262 ราย) สมุทรปราการ 209 ราย นนทบุรี 132 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 94 ราย สมุทรสาคร 89 ราย ชลบุรี 81 ราย (ตลาดบ้านทุ่งศรีราชา 28 ราย บริษัทขนส่งสินค้าและให้เช่ารถ 8 ราย) พระนครศรีอยุธยา 43 ราย (บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ 14 ราย) ราชบุรี 43 ราย (โรงงานผลิตบะหมี่ที่บ้านโป่ง 36 ราย) และยะลา 42 ราย (ระบาดในชุมชน 36 ราย)

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรคได้สรุปพื้นที่เสี่ยง 11 ประเภท ได้แก่ 1.ตลาดสด 2.สถานที่ขนส่งสาธารณะ 3.สถานบันเทิง 4.สถานที่ต่ออายุบัตรแรงงานต่างด้าว 5. หน่วยราชการส่วนหน้า 6.โรงงาน/สถานประกอบการ 7.ห้างสรรพสินค้า/ร้านค้า/ร้านอาหาร 8.สถานที่ดูแลผู้สูงวัย/ผู้ป่วยติดเตียง 9. โรงเรียน/สถานศึกษา/ศูนย์เด็กเล็ก 10.ศาสนสถาน 11.ธนาคาร/บริษัท/สำนักงาน โดยทุกจังหวัดจะมีมาตรการเฝ้าระวังและคัดกรองเชิงรุกทุกๆ 2 สัปดาห์ ได้แก่ การสุ่มตรวจ 5 ใน 11 ประเภท แต่ละประเภทอย่างน้อย 5 แห่ง แต่ละแห่งอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง

“บางจังหวัดมีการสุ่มตรวจมากกว่าที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น บางจังหวัดมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ บางจังหวัดเป็นพื้นที่ชายแดน บางจังหวัดเป็นจุดค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่” พญ.อภิสมัย กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ใน กทม.มีตลาดสดจำนวน 486 แห่ง ได้ดำเนินการตรวจแล้ว 379 แห่ง ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 289 แห่ง และยังไม่ผ่าน 90 แห่ง โดยข้อบกพร่องที่พบ ได้แก่ การเว้นระยะห่าง, ไม่กำหนดทาเข้า-ออกชัดเจน, ไม่สวมหน้ากาก, ไม่มีจุดล้างทำความสะอาดมือ, ระบบระบายอากาศ, การลงทะเบียนผู้ค้า

สำหรับกรณีที่จะมีการเปิดเรียนในวันที่ 14 มิ.ย.64 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ 2 กลุ่ม คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัด ให้เลือกจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมจาก 4 รูปแบบ คือ On Air, Online, On Demand และ On Hand โดยไม่อนุญาตให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด 17 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 56 จังหวัด ต้องผ่านการประเมินความพร้อมของ Thai Stop Covid + (TSC+) ทั้ง 44 ข้อ หลังจากนั้นให้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดก่อน

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 175,171,038 ราย เสียชีวิต 3,776,988 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,264,727 ราย อันดับสอง อินเดีย 29,182,072 ราย อันดับสาม บราซิล 17,125,357 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,725,492 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,306,690 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top