ศูนย์วิจัยกสิกร คงเป้า GDP ปีนี้ 1.8% ลุ้นกระจายวัคซีนได้ดีดัน Q4/64 โตก้าวกระโดด

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 64 ไว้ที่เติบโต 1.8% ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่าการระบาดโควิดระลอก 3 จะบรรเทาลงในช่วงเดือน ก.ค.64 จากการเร่งปูพรมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนมากขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.64 เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การติดเชื้อโควิดเริ่มชะลอลงในช่วง 1-2 เดือนนี้ (มิ.ย.-ก.ค.64) และจะทำให้เริ่มกลับมาเปิดเมืองได้เต็มที่มากขึ้น

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลบวกจากทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้ปรัประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยในปี 64 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโต 9% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 7% ทำให้ยังสามารถช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กำลังทยอยออกมาทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะเข้ามาช่วยหนุนการบริโภคในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในปัจจุบันกำลังซื้อจะยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำให้คนในประเทศยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทำให้ปรับลดประมาณการการบริโภคภาคเอกชนลดลงเหลือเติบโตเพียง 0.9% จากเดิมที่ 2.8%

“หากเร่งฉีดได้ในปริมาณที่มากพอกับการสร้างความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจ คงทำให้ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/64 มีทิศทางที่เร่งตัวขึ้นอย่างมาก และหากเริ่มเปิดการท่องเที่ยวกลับมาได้ ไตรมาส 4/64 ก็อาจจะเห็น GDP โตก้าวกระโดดมาที่ 5% และจะเป็นการเปลี่ยนภาพแนวโน้มของประเทศไปในทิศทางที่ดีต่อไปในปีหน้าอีกด้วย”นางสาวณัฐพร กล่าว

ศูนย์วิจัยฯ มองว่าภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากเรื่องวัคซีนและการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสแล้ว ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญดังกล่าวอันทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น

โดยในระยะสั้นการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและการขยายเพดานหนี้สาธารณะยังไม่น่าจะเป็นประเด็น โดยคงจะเห็นระดับหนี้สาธารณะที่เกิน 60% ภายในปี 65 แต่ในระยะกลาง หากยังมีการขาดดุลการคลังในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจจะนำมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่นทางภาคการคลังของไทย

ด้านโจทย์เงินเฟ้อไทยที่เพิ่มขึ้นนั้น แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวและคงไม่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปลี่ยนท่าทีนโยบายดอกเบี้ย แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาในจังหวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตได้ดีก็จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณถอยออกจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย และนำมาสู่ต้นทุนทางการเงิน ผ่านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย กดดันภาคธุรกิจที่เพิ่งจะเริ่มดีขึ้น

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า หนี้สินภาคครัวเรือนหลังจากการเกิดแพร่ระบาดโควิด กลุ่มหนี้สินลูกค้ารายย่อยเริ่มมีคุณภาพถดถอยลง โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ลด แต่ค่าใช้จ่ายไม่ลด และภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 10.8% การแพร่ระบาดในรอบ 2 มาที่ 22.1% โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และมีโอกาสแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจังหลังผ่านโควิดรอบนี้

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า การปรับขึ้นของต้นทุนหรือราคาสินค้ามีผลซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจ ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 1% จะกระทบค้าปลีก SMEs ราว 23,600-23,800 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเผชิญข้อจำกัดในการผลักภาระไปให้กับผู้บริโภค

ขณะที่มาตรการรัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่หากเศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจน ปัญหาหรือผลกระทบดังกล่าวจะมีขนาดที่ลดลง แต่ยังต้องติดตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหลังจากนี้ ซึ่งจะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top