ยะลา ประกาศงดเข้า-ออกพื้นที่,งดรับประทานอาหารภายในร้าน เริ่มมีผล 15 มิ.ย.

นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดยะลา ออกคำสั่ง งดการเดินทางเข้า – ออกพื้นที่จังหวัดยะลา (ล็อคดาวน์) เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ให้แจ้งต่อหัวหน้าด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำด่านตรวจ หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านตรวจเพื่อใช้ดุลยพินิจในการกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และให้ผู้ที่เดินทางเข้ามายังพื้นที่จังหวัดยะลาสแกน QR Code (YALA SAFE ALERT) ณ ด่านตรวจรอยต่อพื้นที่จังหวัด และให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในพื้นที่ ได้แก่ กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำชุมชน, เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยทันที เพื่อพิจารณาคัดกรองความเสี่ยง ต่อการแพร่ระบาดของโรค และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน

ทั้งนี้ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจ ตรวจสอบยานพาหนะที่เดินทางเข้าจังหวัดยะลาทุกคันและให้ถือปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นอย่างเคร่งครัด ยกเว้นกรณีการเดินทางเพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าที่จำเป็น สินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าทางการเกษตร ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ แก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุสิ่งพิมพ์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรก่อสร้าง การไปรษณีย์ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ กู้ชีพ กู้ภัยฉุกเฉิน รถพยาบาล พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2564

และมาตรการเกี่ยวกับร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ร้านน้ำชา กาแฟ รวมทั้งร้านจำหน่ายสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อื่นๆ งดมิให้รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มในร้าน โดยให้จำหน่ายในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น และเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 22.00 น. โดยให้ผู้บริการจัดทำเครื่องหมายการเว้นระยะการเข้าคิว ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการไม่น้อยกว่า 2 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและความแออัดของผู้รับบริการ จัดให้มีจุดบริการล้างมือหรือเจลล้างมือให้ผู้รับบริการก่อนเข้าใช้บริการ และให้ผู้บริการและผู้รับบริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ ถือเป็นความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top